บาทอ่อนระทวย 7.8% นักลงทุนคาดดอกเบี้ยโลกสูงนาน ด้าน ธปท.ยืนยันเต็มกำลัง เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ แม้ตัวเลขเดือน มี.ค.ชะลอลงแทบทุกหมวด ไม่หวั่นคลังลดประมาณการ ชี้ เม.ย.น่าจะเริ่มดีขึ้น ยังเป็นไปตามที่ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.6% สวนทางดัชนีเอ็มพีไอทรุดต่อเนื่อง 18 เดือน
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินทั่วโลกปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯไว้ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน(Year to Date) อ่อนค่าไป 7.8% ถือว่าอ่อนค่าเป็นที่สองของภูมิภาครองจากเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าไปแล้วถึง 9.6%
“ช่วงไตรมาสแรก เงินบาทอ่อนค่านำสกุลเงินอื่น เพราะนอกเหนือจากผลจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ยังมีผลมาจากปัจจัยในประเทศเองที่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงเป็นผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ในเดือน เม.ย.นี้ เงินบาทก็เริ่มอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาค โดยอ่อนค่าเพียง 1.7% ขณะที่สกุลเงินในภูมิภาคยังอ่อนค่ามากกว่า 2% ขณะที่ในไตรมาส 2 คาดว่า เงินบาทก็ยังอาจจะอ่อนค่าจากปัจจัยฤดูกาลที่จะมีการจ่ายเงินปันผล แต่เชื่อว่าดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง”
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.และไตรมาสแรกของปีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอลงในเดือน มี.ค. จากการใช้จ่ายในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ลดประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการ Easy E-receipt หมดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1% แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนอัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวปรับลดลงตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดและนักท่องเที่ยวจีน หลังเร่งไปในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 6.9% และรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 10.1% แต่ทั้งไตรมาสแรก จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 17.8% และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 22.8%
เครื่องชี้การบริโภคลดลงหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ดัชนีอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 0.6% ในเดือน มี.ค.และเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ในไตรมาสแรก ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคานํ้ามันเบนซิน ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มี.ค.ปรับลด 1.5% การส่งออกสินค้าเทียบปีต่อปีติดลบ 10.2% แต่หากเทียบไตรมาสก่อนหน้ายังขยายตัวได้ 2.1% การผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.2% ขณะที่รายจ่ายอุปโภคของรัฐบาลกลางเดือน มี.ค.ติดลบ 12% รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางลดลง 59.2%
ทั้งนี้ เมื่อมองไปในเดือน เม.ย.จากการสอบถามภาคธุรกิจ พบว่า โรงแรม 4 ดาวขึ้นไปในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักสามารถปรับราคาได้สูงกว่าก่อนโควิด-19 ขณะที่โรงแรมไม่เกิน 3 ดาวปรับราคาได้จํากัด สินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้นตามการท่องเที่ยว และกําลังซื้อของผู้บริโภครายได้ระดับกลาง-บนซึ่งยังดีอยู่ ขณะที่ยานยนต์หดตัวจากความสามารถชําระหนี้ของผู้กู้ที่ด้อยลง เช่นเดียวกับภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตยังอยู่ในภาวะหดตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทิศทางเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.เหมือนจะชะลอตัวลง จะมีผลต่อภาพเศรษฐกิจทั้งปีให้ชะลอตัวลงหรือไม่ นางปราณีกล่าวว่า เท่าที่เห็นตัวเลขในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ ธปท.คาดไว้ว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% แม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะปรับลดการขยายตัวลงเหลือ 2.4% แต่จะขอดูตัวเลขเศรษฐกิจจริงของสภาพัฒน์ก่อน และเท่าที่ประเมินในขณะนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลจะเร่งตัวขึ้น หลังงบประมาณเริ่มใช้ได้จริง ประกอบกับการท่องเที่ยวยังดี จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้ต่อเนื่อง
ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยวันเดียวกันว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน มี.ค.อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตา คือ การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลว่าส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างไร.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่