SCB สำรวจการใช้จ่ายเงินดิจิทัล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

SCB สำรวจการใช้จ่ายเงินดิจิทัล

Date Time: 26 เม.ย. 2567 06:00 น.

Summary

  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB/EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้เผยแพร่ผลสำรวจ “ส่องพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้มีสิทธิจากนโยบาย Digital Wallet” ที่ได้ทำไว้ก่อนออกมาทันที

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

หลังจากที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวมติ ครม. รับหลักการกรอบนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB/EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้เผยแพร่ผลสำรวจ “ส่องพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้มีสิทธิจากนโยบาย Digital Wallet” ที่ได้ทำไว้ก่อนออกมาทันที พบว่าคนส่วนใหญ่จะเก็บเงินตัวเองไว้ และใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลแจกให้แทน

การสำรวจการใช้เงินดิจิทัลนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แบ่งออกเป็น 5 กรณีดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินที่ได้รับ 10,000 บาท จนครบภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) หรือ กลุ่มผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะ ทยอยใช้จ่ายเงินไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ แนะนำว่า หากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนเร็วอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องกำหนดระยะเวลาให้สั้นลง เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

กรณีที่ 2 ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% ระบุว่า จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง หากได้รับเงิน 10,000 บาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย และจะนำเงินใช้จ่ายที่ลดลงกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการให้ญาติใช้จ่าย หรือนำไปลงทุนธุรกิจต่อ ทั้งนี้ หากรวมเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจข้างต้น จะพบว่า ผู้มีสิทธิทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 40,000-70,000 บาท) รายได้ปานกลาง (เงินเดือน 15,000-40,000 บาท) และรายได้น้อยราว 30% จะมีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย ขณะที่ ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง เพื่อนำไปเก็บออม หรือชำระคืนเงินกู้ ซึ่งเงินส่วนนี้จะไม่เข้าระบบทันที แต่จะทำให้คนมีเงินออมหรือมีเงินใช้จ่ายในอนาคตมากขึ้น

กรณีที่ 3 พบว่า สินค้าที่ใช้ในครัวเรือน หรือ Grocery เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกใช้จ่ายในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของสินค้าทั้งหมด ขณะที่ สินค้าหมวดสุขภาพ ร้านอาหาร รองลงมา ยกเว้นกลุ่ม Gen Z ที่มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และ ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนไป ซื้อสินค้าเพื่อแต่งและซ่อมบ้าน กลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และมือถือ จะได้รับอานิสงส์ราว 10-17% และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว ซึ่งค่อนข้าง กระจุกตัวอยู่ในผู้มีสิทธิกลุ่ม Gen Y และ Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท

กรณีที่ 4 ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อจะเป็น “กลุ่มหลัก” ที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% ร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7–11 ราว 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด กลุ่มร้านอาหาร ร้านขายยา รองลงมา นอกจากนี้ ร้านอุปกรณ์ยานยนต์ ร้านอุปกรณ์การเกษตร คาดว่าจะได้อานิสงส์บ้าง ส่วน ร้านค้าส่ง/ปลีกขนาดใหญ่ แม้จะได้รับประโยชน์โดยตรง แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็ก ซึ่งต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิมาใช้จ่ายต่อไป เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต๊อกสินค้าในร้าน เป็นต้น

กรณีที่ 5 ข้อจำกัดโครงการ พบว่า การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายในโครงการ ตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ราว 70% มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค และไม่มีร้านค้าที่ตรงกับความต้องการ

ผลวิจัยนี้ชัดเจนว่า แจกเงินคนละหมื่น ประชาชนได้ประโยชน์ แต่การบังคับใช้หมดใน 6 เดือน เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในเขตทะเบียนบ้าน เป็นข้อจำกัด ถ้าใช้ไม่หมด เงินดิจิทัลที่เหลือจะหมดค่าไปเลยไหม? จะมีร้านรับแลกให้ครบหมื่นหรือไม่? ส่วนปลายทางเงินที่ใช้จ่าย ก็ชัดเจนว่า ไปสุดทางที่บริษัทค้าส่งค้าปลีก บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่มากที่สุด.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ