สภาพคล่อง ของครัวเรือนไทย หลังจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังฟื้นตัวไม่ดีมากนัก สะท้อนจาก ธุรกิจที่นับเป็นที่พึ่งยามยากของคนไทย เพราะไม่ต้องมีเอกสารแสดงรายได้ หรือตรวจสอบข้อมูลเครดิต อย่างธุรกิจ “โรงรับจำนำ” ยังคงมีภาพรวมเติบโตสูง และผลประกอบการดี อย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก สำนักงานธนานุเคราะห์ ของ ปี 2566 พบ มีผู้นำทรัพย์ไปจำนำทั้งสิ้น 1.19 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.9% สอดคล้องกับมูลค่าทรัพย์จำนำ เพิ่มขึ้น 6% มาอยู่ที่ระดับ 20,386 ล้านบาท ซึ่งเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2562-2565 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิดด้วยซ้ำ ทำให้ ยอดคงค้างในระบบ มีมากกว่า 83,362 ล้านบาท
ท่ามกลางปัจจุบัน ทั่วประเทศ มีโรงรับจำนำ ทั้งสิ้น 843 แห่ง เพิ่มขึ้น 16 แห่ง จาก ณ สิ้นปี 2565 ประกอบด้วยโรงรับจำนำเอกชน 540 แห่ง เพิ่มขึ้น 15 แห่ง และโรงรับจำนำของรัฐ (สถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์) รวม 303 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง อีกทั้งต้องแข่งขันกับธุรกิจร้านทองที่ให้บริการรับจำนำทองคำเหมือนกัน
แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่า กลับพบว่า แม้ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นมากแต่มูลค่าทรัพย์หลุดจำกลับไม่ปรับตัวลดลงเหมือนที่เคยเป็น เพราะเดิม คนจะมาไถ่ถอนทองคำ เพื่อนำไปจำนำใหม่หรือขายต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่ช่วงปี 2566 ไม่เป็นเช่นนั้น
ThairathMoney เจาะข้อมูลวิเคราะห์เพิ่มเติม จาก LH BANK ซึ่งเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งประเทศ ไทยมีมูลค่าทรัพย์หลุดจำนำ มากถึง 601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% ภายใต้ ทรัพย์จำนำกว่า 90% ของธุรกิจโรงรับจำนำ คือ ทองคำ
ทั้งนี้ มาจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางส่วน ยังมี ปัญหาการขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจ SME ขณะที่ธนาคารและ Non-Bank มีความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลด้านคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการโรงรับจำนำมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพราะสามารถให้บริการเงินหมุนเวียนได้ง่ายกว่า
“ครัวเรือนบางส่วนขาดสภาพคล่องต่อเนื่องยาวนานทำให้ต้องก่อหนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ไม่มีความสามารถที่จะไถ่ถอนสินทรัพย์คืน เพราะต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายหลายด้าน ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีลักษณะแบบ K-Shape ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อสูง และอัตรา ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า แนวโน้มธุรกิจโรงรับจำนำ ยังคงมีการแข่งขัน ด้านราคาสูง โดยการเพิ่ม LTV ของทรัพย์จำนำโดยเฉพาะทองคำ ซึ่งทำให้ ผู้ประกอบการต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจโรงรับจำนำยังต้องเผชิญการแข่งขันจาก ผลิตภัณฑ์สินเชื่อระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกันของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ที่ปัจจุบันหันมาเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SME เพราะเป็น กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยการออกผลิตภัณฑ์สำหรับให้กู้ยืมระยะสั้น อีกด้วย
ที่มา : บทวิเคราะห์ LH BANK
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney