ทำสถิติในรอบ 6 เดือนครึ่ง เงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.03 บาทต่อดอลลาร์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำสถิติในรอบ 6 เดือนครึ่ง เงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.03 บาทต่อดอลลาร์

Date Time: 23 เม.ย. 2567 08:18 น.

Summary

  • ค่าเงินบาททะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง และมีทิศทางอ่อนต่อเนื่อง หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งไม่หยุด เหตุเฟดคงดอกเบี้ยสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่สงครามในตะวันออกกลางเพิ่มความผันผวนค่าเงิน ราคาทองคำวันที่ 22 เม.ย. ทองคำรูปพรรณ ขายออก 41,900 บาท รับซื้อ 40,553 บาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (22 เม.ย.) อ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาที่ 37.03 บาทต่อดอลลาร์ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง โดยได้ประเมินการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.65-37.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักๆ ของการอ่อนค่าของเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาจากการที่ตลาดมองว่าปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไป โดยอาจลดแค่ 1-2 ครั้ง จากที่เมื่อต้นปีมองว่ามีโอกาสลดถึง 4-5 ครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนีดอลลาร์เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งเกินคาด อีกทั้งเฟดสาขานิวยอร์กระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยลงในเวลานี้ ทางด้านค่าเงินเยนลดช่วงลบได้บ้างหลังจากทางการญี่ปุ่น ออกมายืนยันว่าความผันผวนที่มากเกินไปของอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา นอกจากนี้สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

“ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินเฟ้อยังค่อนข้างสูงอยู่ ทำให้มีเงินไหลออกจากภูมิภาคกลับไปถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี กลับไปอยู่เหนือ 5% อีกครั้ง กดดันสินทรัพย์เสี่ยงไปทั่วโลก และหนุนเงินดอลลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น ค่าเงินบาทของไทยนับจากต้นปีอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาคที่ 7.4% แต่ในเดือน เม.ย.เราอ่อนค่ากลางๆที่ 1.5%”

ขณะที่เงินบาทจะอ่อนค่าระดับกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ต้นๆ ไปอีกสัก 1-2 สัปดาห์ ซึ่งระดับนี้เป็นระดับที่คิดว่าผู้ส่งออก จะมีการขายดอลลาร์กันออกมา และไม่น่าจะไหลไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดูแล้วการท่องเที่ยวยังไปได้ดี ปีนี้น่าจะสามารถเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ ล่าสุดราคาน้ำมันดิบก็เริ่มทรงตัวแล้ว หลังที่ก่อนนี้ตื่นตระหนกเรื่องสงคราม ส่วนนักลงทุนจับตาการประกาศตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดปรับมุมมองอีกครั้งว่าเฟดอาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไป และเฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25-26 เม.ย.นี้ ส่วนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นประเด็นเพิ่มความเปราะบางต่ออารมณ์ตลาดการเงิน

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ตลาดการเงินติดตามข้อมูลส่งออก นำเข้าเดือน มี.ค. รวมทั้งรายละเอียดโครงการ Digital Wallet ที่จะเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี เดือน เม.ย.นี้ ขณะที่ทางการมองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศเป็นหลัก เราคาดว่าสินทรัพย์สกุลเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากแรงส่งเชิงบวกของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับราคาทองคำในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. สมาคมค้าทองคำได้แจ้งราคาซื้อขายตลอดวันมีราคาเคลื่อนไหวขึ้นลง 13 ครั้ง ล่าสุด ณ เวลา 15.31 น. ราคาทองคำหนึ่งบาท ทองคำลดลง 300 บาท โดยทองคำรูปพรรณ ขายออก 41,900 บาท รับซื้อ 40,553 บาท ทองคำแท่ง ขายออก 41,400 บาท รับซื้อ 41,300 บาท ขณะที่ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ วันที่ 22 เม.ย.ปรากฏว่า ดัชนีราคาหลักทรัพย์ปิดที่ 1,349.52 จุด เพิ่มขึ้น 17.44 จุด มูลค่าซื้อขาย 43,139.29 จุด โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อ 372.42 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อ 2,387.94 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศขาย 1,988.63 จุด นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์ขาย 771.74 จุด.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ