จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ เอกชนลั่นแบกต้นทุนไม่ไหวจะลดกำลังผลิต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ เอกชนลั่นแบกต้นทุนไม่ไหวจะลดกำลังผลิต

Date Time: 22 เม.ย. 2567 06:01 น.

Summary

  • เอกชนลั่นหากแบกรับต้นทุนไม่ไหวจะลดกำลังการผลิตลง ขณะที่ ม.หอการค้าไทยหวังดีเซลจะขึ้นไม่เกินลิตรละ 32 บาท ย้ำทุกๆ 50 สตางค์ที่ปรับขึ้น กระชากจากกระเป๋าคนไทย 1 พันล้านบาท ทำกำลังซื้อหด จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังไม่ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทหลังจากสิ้นสุดลดภาษีตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.67 ว่า ในมุมมองของเอกชนต้องการให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆต่ำที่สุด ราคาน้ำมันดีเซลก็เป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้า เมื่อต้นทุนการขนส่งปรับขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิตจะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนจากราคาพลังงานอื่น และค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และค่าแรงงานขั้นต่ำที่ต้องการให้ขึ้นไปถึงวันละ 400 บาทในสิ้นปีนี้อีก แต่การปรับขึ้นราคาขายสินค้าเป็นไปได้ยาก เพราะภาครัฐขอความร่วมมือตรึงราคา อีกทั้งกำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ และการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ทำให้ต้องแบกรับภาระต่างๆที่เพิ่มขึ้นไว้เอง อย่างไรก็ตาม หากรับภาระไม่ไหว ก็อาจเห็นการลดกำลังการผลิตสินค้าลง จากปัจจุบันก็ยังใช้การผลิตไม่เต็มที่อยู่แล้ว

“ถ้าถามว่า หากราคาน้ำมันดีเซลต้องปรับขึ้นจริงๆ ต้องไม่เกินลิตรละเท่าไร ภาคเอกชนจะรับได้ ก็ต้องบอกว่า เอกชนต้องการให้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ราคาน้ำมันดีเซล รัฐคงอุ้มต่อไปไม่ได้ เพราะเงินกองทุนน้ำมันติดลบแล้ว แต่เชื่อว่า รัฐคงจะขึ้นแบบไม่กระชาก และไม่ปล่อยให้ขึ้นมากเกินไป ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจจะล้ม เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย และประชาชนไม่มีกำลังซื้อ”

นายพจน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลในอดีตจะมีนโยบายให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน ขณะนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานได้แล้ว สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไทยเป็นหลัก ไม่ใช่ปรับขึ้นทุกอุตสาหกรรมเท่ากันหมด เพราะบางอุตสาหกรรม เช่น แปรรูปอาหารทะเล ใช้แรงงานต่างด้าวมากถึงกว่า 80% ไม่เช่นนั้น แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลทำเรื่องแรงงานต่างด้าวให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน ไม่อยากให้มีแรงงานแบบผิดกฎหมาย และที่สำคัญไทยกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างมาก หากไม่เร่งแก้ไขจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงไม่อยากให้เอาค่าแรงมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงด้วย เพราะภาคเอกชนได้รับผลกระทบมาก

ด้านนายธวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย เพราะจะทำให้ต้นทุนต่างๆสูงขึ้น ท่ามกลางต้นทุนอื่นๆที่สูงอยู่แล้ว ทั้งดอกเบี้ย และค่าแรง ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนไม่มี โดยมองว่า หากจะกลับขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 32 บาทเท่ากับก่อนที่รัฐบาลจะตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทก่อนหน้านี้ ก็น่าจะพอเข้าใจได้ และน่าจะทยอยปรับขึ้น ไม่กระชากขึ้นไปในครั้งเดียว

“หากรัฐปรับขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 50 สตางค์ จะดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชนเดือนละ 1,000 ล้านบาท เมื่อคิดจากการใช้ดีเซลเดือนละ 2,100 ล้านลิตร หากปรับขึ้นลิตรละ 1 บาทก็จะดึงเงินออกไป 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะยิ่งทำให้กำลังซื้อประชาชนอ่อนแอไปอีก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งเร่งรัดการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงิน
ดิจิทัล 10,000 บาท เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีแรงกระตุ้นให้เติบโต”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ