โจทย์ใหญ่ "กุลยา ตันติเตมิท" ภารกิจ "หารายได้เพิ่ม" ของกรมสรรพากร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

โจทย์ใหญ่ "กุลยา ตันติเตมิท" ภารกิจ "หารายได้เพิ่ม" ของกรมสรรพากร

Date Time: 22 เม.ย. 2567 06:30 น.

Summary

  • ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเปราะบาง ต้องการเม็ดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การลงทุนใหม่ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการลงทุนในภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเปราะบาง ต้องการเม็ดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การลงทุนใหม่ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการลงทุนในภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การหารายได้ของประเทศ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดย “กรมสรรพากร” ในฐานะหน่วยงานหัวเรือใหญ่ในการจัดเก็บภาษีในสัดส่วนมากถึง 75-80% ของรายได้ภาษีทั้งหมด จึงกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกให้โจทย์ “ต้องหารายได้เพิ่มขึ้น”

ทำให้ในปี 2567 นี้ “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีกรมสรรพากร ต้องเร่งทำงานตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ปิดช่องว่างไม่ให้มีการหลีกเลี่ยง

ภารกิจท้าทายของอธิบดีหญิงวัย 50 ปีแห่งกรมสรรพากร ดึงดูดความสนใจให้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เข้าไปพบปะพูดคุยกับเธอ ครอบคลุมกลยุทธ์การปรับโครงสร้างภาษี สร้างความมั่นคงในฐานภาษีเดิม ขยายฐานภาษีใหม่ สนับสนุนผู้มีเงินได้เข้าระบบ สร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการในและนอกระบบ ตลอดจนพัฒนาระบบภาษีให้ง่ายต่อการปฏิบัติตาม ยากที่จะหนีหรือเลี่ยงภาษี โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปี 2567 จะต้องบรรลุตามเป้าหมาย 2.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่จัดเก็บได้ 2.21 ล้านบาท

ปิดช่องว่างภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

เมื่อปลายปี 2566 กรมสรรพากรได้ออกประกาศเรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้กรมสรรพากรรับทราบรายได้ของแพลตฟอร์ม นำไปสู่การชำระภาษีอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินการเช่นเดียวกับกรมสรรพากรในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มมีรายได้จากผู้ค้าหลายแสนราย

รวมทั้งมีการปรับปรุงประกาศเรื่องเงินได้ต่างประเทศ ที่ถูกมองว่าสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้มีเงินได้ในประเทศ ที่ต้องเสียภาษีครบถ้วนถูกต้อง เมื่อเทียบกับการมีเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งในอดีตผู้มีเงินได้จากต่างประเทศ สามารถวางแผน เพียงนำเงินที่ได้รับ เข้ามาประเทศไทยข้ามปีภาษี ก็ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยแล้ว ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามมาตรฐานภาษีระหว่างประเทศ โดยที่มีเงินได้ แต่อาจไม่ถูกจัดเก็บภาษีจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Double non Taxation

ด้วยความร่วมมือของกรมสรรพากรกับประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ หรือ Common Reporting Standard (CRS) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (FATCA) ทำให้ข้อมูลทางการเงินของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศมีความโปร่งใส ช่วยปิดช่องว่างการเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

ปรับปรุงกฎหมายขยายฐานภาษีใหม่

นโยบายภายใต้มาตรการ “EasyE-Receipt 2567” ที่รัฐบาลให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ได้สูงสุด 50,000 บาท โดยต้องเป็นการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Time Stamp ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากนั้น ทำให้เกิดการตื่นตัวในผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการเพื่อกระตุ้นยอดขาย เข้ามาลงทะเบียนในระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

โดยตั้งแต่กรมสรรพากร เปิดระบบลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเดือน พ.ย.2566 มีผู้ประกอบการอยู่ในระบบเพียง 4,135 ราย แต่เมื่อรัฐบาลเปิดตัวนโยบาย Easy E-Receipt ทำให้มีผู้ประกอบการมาลง ทะเบียนใช้ระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 5,179 ราย และเป็นผู้ประกอบการที่มีสาขาให้บริการทั่วประเทศ มากกว่า 150,611 สาขา

นอกจากนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ... หรือ Pillar 2–Global Anti–Base Erosion Rules โดยกฎหมายภาษี Pillar 2 นี้ เป็นการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% (Global Minimum Tax) จากกลุ่มธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 28,000 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่แท้จริง ไม่น้อยกว่า 15% คาดว่า พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว จะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มอีกปีละ 15,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือน พ.ค.นี้

การจัดเก็บ VAT ในสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทเพิ่มเติม (จากเดิมเก็บเฉพาะที่มีมูลค่าเกิน 1,500 บาท) จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษี ระหว่างผู้ขายสินค้าในประเทศกับผู้ค้าขายสินค้าในต่างประเทศ โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาตามคำแนะนำขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development-OECD) ที่ให้ขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปถึงผู้ขายสินค้าที่อยู่ในต่างประเทศและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศไทย

“พูดง่ายๆ คือจะเก็บภาษี VAT ตั้งแต่บาทแรก แต่ละวันมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาหลายล้านชิ้น จำเป็นต้องจัดเก็บภาษี VAT เช่นเดียวกับสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทยเพื่อความเท่าเทียม”

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงประมวลรัษฎากร ม.41 จัดเก็บเงินได้จากต่างประเทศ อาทิ ภาษีดอกเบี้ย เงินปันผลที่ได้รับจากต่างประเทศ รวมทั้งการบังคับใช้ข้อตกลงภาษี Pillar 1 หรือการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มบริษัทที่มีกำไรเกิน 10% มาเป็นรายได้ให้ประเทศที่เป็นผู้บริโภค เบื้องต้นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีอยู่ราว 100 บริษัท ได้แก่ กูเกิล ไมโครซอฟท์ แอปเปิล เฟซบุ๊ก เป็นต้น โดยธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าปี 2567 นี้ ประเทศไทยจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก Pillar 1 ประมาณ 6,400 ล้านบาท

ยกระดับองค์กรเก็บภาษีแบบไร้รอยต่อ

กรมสรรพากรพยายามยกระดับไปสู่องค์กรดิจิทัลต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการผู้เสียภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกทุกขั้นตอนเกือบจะครบสมบูรณ์ โดยปัจจุบันผู้เสียภาษีมีการชำระผ่านระบบออนไลน์ 99% เหลือเพียง 1% เท่านั้นที่ชำระภาษีแบบกระดาษ

เช่นเดียวกับเอกสารภาษีในรูปแบบกระดาษ กรมสรรพากรมีเป้าหมายที่จะลดการใช้กระดาษลงเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ได้เชื่อมข้อมูลกับหลายหน่วยงาน รวมถึงเชื่อมระบบเงินเดือนกับเอกชนทุกรายแล้ว ซึ่งในปี 2568 เอกชนที่จ่ายเงินเดือนพนักงานจะต้องยื่นแบบภาษีเงินเดือนพนักงานผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด

ส่วนผู้ประกอบการรายใดยังไม่เข้าระบบออนไลน์กรมสรรพากรทั่วประเทศจะเข้าเสนอแนะ ช่วยเหลือ เพื่อให้กรมสรรพากรบรรลุเป้าหมาย “Digitization”

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรยังได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหลากหลาย โดยเฉพาะข้อมูล Big Data และ Digital Transformation รวมถึงนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานควบคู่ วิเคราะห์เจาะลึกลงรายละเอียด ข้อมูลพฤติกรรมผู้เสียภาษี

ตลอดจนการทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย ให้บริการแบบไร้รอยต่อ “One Seamless Tax Ecosystem : OneRD” โดยในปี 2567-2570 กรมสรรพากรจะยกระดับองค์กรต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ SMILE RD เพื่อให้บริการแก่ผู้เสียภาษีอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรม โดย “SMILE RD” ย่อมาจาก 1.Simplification : การทําระบบภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อ 2.Modernization : มุ่งสู่การเป็นองค์กรจัดเก็บภาษีที่ทันสมัย 3.Inclusivity & Innovation : การบริการสําหรับทุกคนอย่างครอบคลุม ทั่วถึง 4.Legality &Compliance : ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม ลดดุลพินิจ 5.Efficiency : จัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ 6.Responsiveness : ยกระดับประสบการณ์ของผู้เสียภาษีด้วยการตอบสนองอย่างรวดเร็ว 7.Digitization: มุ่งสู่อนาคตด้วย Digital First

“การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ช่วยปิดช่องโหว่การ หลีกเลี่ยงภาษี ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพากร ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.28 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตเพียง 1.9%”

AI ทำให้การเลี่ยงภาษีเป็นเรื่องยาก

เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 เป็นไปตามเป้า กรมสรรพากรต้องโฟกัส ทั้งภาพใหญ่ ภาพเล็ก ลงลึกในรายละเอียด ติดตามกลุ่มที่ยังมีศักยภาพ ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาขยายฐานภาษี เช่น การติดตามกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเสียภาษี เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ, กลุ่มที่เกี่ยวกับปัจจัยกำลังซื้อภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว

อีกทั้งยังได้มีการติดตามบุคคลที่มีศักยภาพในการเสียภาษีนอกระบบ ด้วยการส่งหนังสือเตือนกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ แต่ยื่นแบบแสดงราย การภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้เข้ามายื่นแบบและชำระภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งเบื้องต้นได้ส่งจดหมายเตือนไปยังผู้เสียภาษี 75,000 ราย เพื่อให้เข้าระบบชำระภาษีอย่างถูกต้อง

“การเข้าถึงผู้เสียภาษี 75,000 รายที่ว่า เป็นการตรวจเช็ก วิเคราะห์ลงลึก รายละเอียดข้อมูลจากระบบ AI ที่สรรพากรพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ขณะนี้ทั้ง 75,000 รายได้เข้าสู่ระบบภาษีถูกต้องแล้ว จากนี้ไปการเลี่ยงภาษีจะเป็นเรื่องยาก เพราะใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ทุกรายละเอียดของข้อมูลภาษี”

รวมทั้งการร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมทางการค้าและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการ Smart Financial and payment Infrastructure for Business ผ่านระบบ PromptBiz ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประมวลผลข้อมูลจากระบบ PromptBiz กับข้อมูลภายใน รวมทั้งข้อมูลใบกํากับภาษี เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษี ซึ่งจะทําให้ผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น และการส่งเสริมความร่วมมือกับสภาวิชาชีพบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในการกํากับดูแลและช่วยตรวจสอบบัญชี รวมถึงภาษีอากรให้ถูกต้องเหมาะสม

“สุดท้ายอยากขอฝากไว้ว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคน เมื่อรัฐบาลมีรายได้จากการชำระภาษีของผู้มีเงินได้ทุกคน เงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของประชาชนคนไทยทุกคน”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ