รู้สึกว่าเป็น “เศรษฐี” หรือยัง? เมื่อ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้สึกว่าเป็น “เศรษฐี” หรือยัง? เมื่อ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ

Date Time: 18 เม.ย. 2567 09:20 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการเผยแพร่คำขวัญในหมู่แฟนคลับพรรคเพื่อไทยว่า “นายกฯชื่อเศรษฐา คนไทยจะเป็นเศรษฐี”

แล้วก็ต่อยอดมาเป็น “เลือกเศรษฐา คนไทยจะเป็นเศรษฐี”

สโลแกนนี้ได้ถูกนำมาใช้กันเผยแพร่ต่อ จนกระทั่งเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มีชื่อว่า “เศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทย จากนั้นคำขวัญนี้ได้ผุดขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหนึ่งในความหวังของคนไทยทั้งประเทศ ว่าจากนี้ไปจะได้เป็นเศรษฐีกันแล้ว โดยมี “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็น “โอสถทิพย์”

แต่จากวันที่นายกฯเศรษฐา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2566 จนถึงวันนี้ก็ราว 7-8 เดือน

“ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” เกิดอาการคันในหัวใจ อยากรู้ว่าคนไทยเริ่มมีความรู้สึกว่าเป็น “เศรษฐี” กันบ้างหรือยัง มีเงินมีทองใช้คล่องมือกันหรือยัง

และคาดหวังอะไรในการทำงานของรัฐบาลจากนี้ เพื่อให้คนไทยกลายเป็น “เศรษฐี” กันถ้วนหน้า!!!

ดลชนก แซ่ลิ้ม
ขายชานมไข่มุก ตลาดเปรมฤทัย อุดมสุข

“7 เดือนของรัฐบาลนายกฯ “เศรษฐา” ยังไม่มีอะไรดีขึ้น คนเดินตลาดน้อยลงมาก หากเทียบกับช่วงก่อนโควิดคนเดินตลาดเยอะมาก ค้าขายดีมากๆ พอเข้าช่วงโควิดที่คนน้อยลง มาถึงตอนนี้คนเดินตลาดก็ยังน้อยอยู่ ไม่ได้เพิ่มขึ้น อาจเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี รู้สึกเหมือนว่า คนจะประหยัดมากขึ้น ประหยัดจริงๆ”

มองไปรอบข้าง แม่ค้าพ่อค้าด้วยกันคนค้าขายก็ลำบากมาก ตอนนี้ถ้าเทียบจาก 100% คนเดินตลาดหายไปประมาณ 60% เหลือแค่ 40% จากที่เคยเดินกันเท่านั้น แถมซื้อของยากขึ้น เพราะพ่อค้า แม่ค้ายังเท่าเดิม ทำให้ต้องเฉลี่ยๆ กำลังซื้อกันไป ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะเปิดเทอมอีกแล้ว คนยิ่งต้องประหยัดไว้ล่วงหน้า เตรียมเงินไว้จ่ายค่าเทอมลูก เท่าที่คุยๆ กันพ่อค้าแม่ค้าในตลาด 90% ยอดขายตกลงจากเดิม โดยรวมถือว่าผิดหวังกับรัฐบาล ถึงแม้ว่านายกฯจะพยายามไปทำงานต่างประเทศ ต่างจังหวัดมากมาย แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้จริงๆ

“ส่วนถ้าจะถามว่า อยากจะให้รัฐบาลช่วยอย่างไร ให้เงินกู้เพิ่ม หรือโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ดีหรือไม่ “เงินกู้จริงๆ คนไม่ได้อยากได้นะ เพราะเป็นหนี้กลัวผ่อนไม่ไหว ส่วนโครงการแจกเงินก็ดี เพราะจะทำให้คนใช้จ่ายได้ดีขึ้น เหมือนช่วงโครงการคนละครึ่ง ตอนนั้นขายดีมาก”.

กมล ฉัตรเสน
เมกอัปอาร์ติสต์

“รัฐบาลเศรษฐาบริหารราชการแผ่นดินมา 7 เดือนแล้ว ในแง่รายได้ ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงระหว่างรัฐบาลก่อนกับรัฐบาลนี้ แต่ต้องให้โอกาสทำงานต่อไป เพราะเพิ่งแค่ 7 เดือน ทำได้หรือไม่ได้ น่าจะต้องใช้เวลาพิสูจน์มากกว่านี้ และต้องเคารพเสียงประชาชนที่เลือกรัฐบาลเข้ามา ที่อยากฝากไว้คืออยากให้ทำงานเต็มที่ เพราะนโยบายจะสวยหรูแค่ไหน ถ้าไม่มีการปฏิบัติจริงจะสูญเปล่า”

“ในฐานะช่างแต่งหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบันเทิง นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ถือเป็นเรื่องดี หากทำได้จริง มองว่าคนบันเทิงไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่มีทุน รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย”.

ดร.กันตภพ บัวทอง
อาจารย์ประจำวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริหาร มหาวิทยาลัยนครพนม

“ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้คนต้องทำมากกว่า 1 อาชีพ จึงจะอยู่ได้ อย่างผมนอกจากเป็นอาจารย์ประจำแล้วยังต้องทำงานเสริม เป็นที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวให้ภาคเอกชนด้วย รายได้จึงจะเพียงพอ”

“ดังนั้นหากจะถามว่าเป็นเศรษฐีหรือยัง ต้องตอบว่าจะเป็นเศรษฐียุคนี้ ต้องขยัน ทำงานได้หลากหลาย ต้อง Multifunction มีทักษะหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้เราพัฒนาตัวเองได้เลย ไม่ต้องหวังรอรัฐบาล ไม่ต้องลุ้นวันลอตเตอรี่ออก”.


บากบั่น บุญเลิศ
บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

นายกฯเศรษฐาทำหน้าที่มา 7 เดือนแล้ว ประชาชนยังไม่เป็นเศรษฐีมาจากเหตุผล 2-3 ประการ 1.คุณเศรษฐา เคยเป็นซีอีโอแต่ไม่เคยบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่กว่า ท่านลงมาเล่นบทบาทเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด (ซีเอ็มโอ) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ควบหัวหน้าฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) หรือตำแหน่ง รมว.คลังเองด้วย แทนที่จะให้รัฐมนตรีช่วยขับเคลื่อน แล้วตัวเองไปกำหนดยุทธศาสตร์ ปัญหาคือพอทำงานประจำ (routine) เยอะ การติดตามงาน ถามไถ่ความคืบหน้าจะได้ทำหรือไม่ 2.การกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่า เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย แต่ไม่บ่งบอกว่าประเทศมั่งคั่งขึ้นไหม

และ 3.ตลาดทุนซบเซามาก อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่กระทบสภาพคล่องบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงาน นายกฯต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ขับเคลื่อนกลไกตรงนี้ให้ได้ เพราะตลาดทุนสะท้อนความเชื่อมั่นและศักยภาพของรัฐบาลไม่น้อย

“ผมเห็นความมุมานะของนายกรัฐมนตรีนะ แต่ยังไม่เห็นมรรคผลเท่าที่ควร คงต้องรอ”.

ถนอม ตั้งการ
รปภ.หมู่บ้านสวนตาลนันดา กรุงเทพฯ

“นายกฯเศรษฐา อยู่มา 7 เดือนมีแต่แย่ลง เพราะสินค้าในร้านสะดวกซื้อขึ้นราคาทุกอย่าง สินค้าแพงจริง ยกตัวอย่าง กาแฟกระป๋องผมต้องกินทุกวันวันละ 1 กระป๋อง เพราะต้องอยู่กะดึก เมื่อก่อนกระป๋องละ 15 บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นไป 17-18 บาท ไข่ไก่ก็ขึ้นราคา ขนาดน้ำดื่มยังขึ้นเลย แต่ค่าแรงเท่าเดิม ไม่มีอะไรดี ผิดหวังนายกฯเศรษฐา”

“เงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ก็ดีนะ ผมก็อยากได้ แต่ก็ไม่ง่ายนะ ฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วย นักวิชาการก็ค้าน และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน รัฐบาลไปกู้เงินมาแจกก็เป็นหนี้อีก จะได้เมื่อไหร่ไม่รู้ เห็นว่าตอนนี้จะเอาเงินตัวไหนมาแจกแทน แต่สงกรานต์คงยังไม่ได้ และถ้าได้ผมก็ต้องกลับไปใช้ที่บ้าน จ.ลำปาง ก็ลางานยากอีก ต้องหาคนมาแทน วันที่ลาก็ถูกตัดเงิน”.

ปิยะฤดี ศรีวิเชียร
เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “อะบุริยะ โมโม” พระนครศรีอยุธยา

“ไม่รู้นายกฯเศรษฐาทำอะไรบ้าง เคยมีความหวังว่ามีนายกรัฐมนตรีเป็นนักธุรกิจ น่าจะมาพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีอะไรชัดเจนส่งมาถึงประชาชน ร้านค้า และชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด หรือนายกฯอาจจะดูแลแต่เศรษฐีระดับบนแบบเขาหรือเปล่า ร้านอาหารที่ทำอยู่เป็นร้านยากินิคุ ปิ้งย่าง สไตล์ญี่ปุ่น ไม่รู้เกี่ยวกับนายกฯเศรษฐาไหมที่ช่วงนี้มีลูกค้าชาวจีนเข้ามาเยอะและกินหนัก โต๊ะหนึ่งเช็กบิล5,000-10,000 บาท คนไทยจะมาเฉพาะปลายเดือน ส่วนคนญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าหลักกินน้อยลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ไม่กล้าใช้เงิน”

“เมื่อก่อนบริษัทญี่ปุ่นจะส่งวิศวกรมาอยู่ไทยมีสัญญา 3-5 ปี มีรถประจำตำแหน่ง มีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ในกรุงเทพฯให้ครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใหม่ ให้มาครั้งหนึ่ง 1 สัปดาห์แล้วส่งกลับเพื่อประหยัดเงิน เวลามาทานที่ร้านเดี๋ยวนี้สั่งเป็นเบ็นโตะหรืออาหารกล่อง 200-300 บาท บางคนมากินราเม็งแล้วกลับ”.

ธีรศักดิ์ พาโคกทม
วินจักรยานยนต์รับจ้าง

“7-8 เดือนที่ผ่านมา ในยุคนายกฯเศรษฐา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด ยืนยันว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของผม เพราะรายได้จากการขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เท่าเดิม ราคาเดิม ไม่กล้าขอปรับขึ้นกับลูกค้า ต้องเห็นใจกัน ล่าสุดหลังหักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายสึกหรอต่างๆของรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ประกอบอาชีพแล้ว เหลือเงินรายได้เฉลี่ย 200-300 บาทต่อวัน”

เนื่องจากครอบครัวของตนมีภาระรายจ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น อาหารการกินโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถามแม่ค้าที่ขายอาหารก็บอกว่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ถ้าไม่ปรับขึ้นราคาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เรียกว่าผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามๆกันมา ดังนั้น อยากให้นายกฯเศรษฐาหาวิธีปรับลดราคาค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วน

“ผมอยากได้เงินดิจิทัล 10,000 บาทมากนะ ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้ และอยากได้ในปีนี้ เดือนไหนก็ได้ แต่ก็ชักไม่มั่นใจว่าจะได้หรือไม่ เพราะดูๆไปแล้วรัฐบาลแม้จะหาทางผลักดันอย่างเต็มที่ แต่ก็อาจมีเหตุที่ทำให้ไม่ได้ในที่สุด ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนแม้มีความหวังกับเงินก้อนนี้ แต่บางคนก็ทำใจเผื่อไว้เช่นกัน”

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินรายได้ให้กับคนชราที่มีอายุเกิน 60 ปีให้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 600 บาทในขณะนี้.

สุภวิตา นุมัติ
หุ้นส่วนเต็นท์รถบ้านเสรีไทย 64

“นายกฯเศรษฐามา 7 เดือนแล้วตอนนี้ก็ยังไม่เป็นเศรษฐี เพราะยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นเลย ขายไม่ดีเลย คนยื่นขอไฟแนนซ์ 10 คน ผ่านแค่ 2 คน คือ เศรษฐกิจดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่บรรยากาศไม่ดี”

“ทำให้คนที่มีเงิน ก็ไม่กล้าเอาเงินออกมาใช้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินจริงๆเป็นปัญหาที่สะสมมาจากช่วงที่เกิดโควิด-19 ที่ตอนนั้นรัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเยอะแยะ มีการผ่อนผันการจ่ายสินเชื่อ มีเงินช่วยเหลือ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว พอไม่มีลูกค้าที่ผ่อนรถและไม่ได้รับผ่อนผันต่อ ก็จ่ายค่างวดไม่ไหว รถก็ถูกยึด ทำให้ประวัติไม่ดี ติดเครดิตบูโร พอมาซื้อรถคันใหม่ก็ยื่นกู้ไม่ผ่าน ขณะที่ธนาคารก็เข้มงวดปล่อยสินเชื่อเพราะมีหนี้เสียเยอะ”

“เรื่องที่อยากให้รัฐบาลช่วย ถ้าช่วยได้ ช่วยแก้ปัญหาน้ำมันแพง เพราะลูกค้าลังเลที่จะซื้อรถมือสอง เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนรถยนต์อีวี ทำให้คนส่วนหนึ่งไปซื้อรถยนต์อีวี โดยเปรียบเทียบแค่ค่าไฟฟ้าถูกกว่าราคาน้ำมัน ไม่ได้คำนึงเลยว่าตอนที่จะขายรถอีวีออกไปราคาจะตกแค่ไหน และการทำตลาดรถยนต์อีวีของค่ายจีนที่แข่งขันลดราคา ทำให้ตลาดรถยนต์ขาดความมั่นคงเรื่องราคา คนจะซื้อก็ไม่กล้าซื้อ ทำโครงสร้างราคา รถยนต์ปั่นป่วนไปหมด ไม่เหมือนตลาดรถยนต์สมัยก่อน”.

รุ่งรัตน์ สมบุญธรรม (หมอจุ๊บ)
อาชีพหมอดูไพ่เทพ ผ่าดวง

อาชีพหมอดู เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะร่ำรวย แต่ไม่รวย ไม่ได้เป็นเศรษฐี เพราะในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนหาที่พึ่งทางใจ หันหาหมอดู เพื่อหาทางออกให้ตัวเอง ทำให้หมอดูหลายคน “คิวทอง” แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเศรษฐีแต่อย่างใด เพราะอาชีพหมอดู เมื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาเพื่อช่วยเหลือคน สร้างพลังใจ ให้ที่พึ่งทางใจในการใช้ชีวิตในยุคข้าวยากหมากแพงนี้

“คนไปดูดวง เพราะต้องการความช่วยเหลือ สร้างกำลังใจ หาทางออกให้กับปัญหาที่ประสบพบเจอ เมื่อกำลังใจดี เชื่อว่าทุกคนมีทางออก เพียงแต่ในระหว่างที่คิดไม่ออก ก็ต้องหาที่พึ่ง หมอดูเป็นอีกที่พึ่งหนึ่งของคน โดยเฉพาะยุคนี้ ทำให้อาชีพหมอดูเฟื่องฟู แต่ไม่ใช่กับหมอดูทุกคน”

รุ่งรัตน์เล่าว่า คนมาหาหมอดูส่วนใหญ่จะถามเรื่องการเงิน สะสางปัญหาหนี้สินได้อย่างไร และไม่กล้าใช้เงิน ต้องใช้สอยอย่างประหยัด “จากเดิมคนมาดูดวง ไม่ค่อยถามค่าครู แต่ปีนี้คนจะถามค่าครูก่อน เพราะทุกคนระมัดระวังค่าใช้จ่าย”.

“อีฟศรี” ฐานธิษณ์ ธนมหัทธีรวงศ์
พริตตี้

“ใน 7 เดือนนี้ อีฟคิดว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากจนเห็นเด่นชัดแต่ที่เห็นคือการท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น แต่ด้วยแค่ระยะเวลา 7 เดือนก็คงยังเป็นเศรษฐีไม่ได้หรอกค่ะ แต่ก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจและอีกหลายๆเรื่องในประเทศไทยจะดีขึ้นมากกว่านี้ คนไทยจะได้ไม่ต้องรอถูกลอตเตอรี่แล้วจะเป็นเศรษฐีเพียงอย่างเดียว

“รัฐบาลที่แล้วยังให้เวลามาตั้ง 8 ปี แต่นี่แค่ 7 เดือนเอง อย่าอ่อม (อย่าหมดพลัง) นะคะ รัฐบาล”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ