เศรษฐกิจกับอาการป่วยของรัฐบาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจกับอาการป่วยของรัฐบาล

Date Time: 15 เม.ย. 2567 06:00 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีความชัดเจนเรื่องของกรอบวงเงินงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว หลังจากที่ทุกหน่วยงานเสนอปรับปรุงแก้ไขผ่านสำนักงบประมาณเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมที่ทำเอาไว้ 3.6 ล้านล้านบาท อีกแสนกว่าล้านบาท โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมา รัฐบาลต้องการนำไปใช้ใน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และงบรายจ่ายประจำจากการกำหนดเงินเดือนข้าราชการใหม่ หมายความว่างบประมาณรายจ่ายปี 2568 จะต้องเสร็จทันตามกรอบปีงบประมาณด้วย

งบประมาณรายจ่ายปี 2568 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 865,700 ล้าน จากการเพิ่มวงเงินงบประมาณเป็น 3.752 ล้านล้าน ทำให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 ที่ตั้งเอาไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในจำนวนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของ รายจ่ายประจำ จำนวน 2.7 ล้านล้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ที่ให้เงินเดือน 1.8 หมื่นบาทต่อเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรี ปริญญาโท 2.1 หมื่นบาท ปริญญาเอก 2.3 หมื่นบาท ปวช. 1.1 หมื่นบาท ปวส. 1.2 หมื่นบาท. (จะทำให้รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 7,200 ล้านในปีแรก) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1.5 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ร้อยละ 26.9 ส่วนเงินลงทุนเหลืออยู่ 8 แสนกว่าล้าน

การที่รัฐบาลจะต้องนำงบในกรอบงบประมาณประจำปีมาใช้ใน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต อีกแสนกว่าล้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการกู้เงินที่ถูกหน่วยงานของรัฐ แย้งว่าจะผิดวินัยการเงินการคลังของประเทศ เป็นทางออกฉุกเฉินที่ยังไม่รู้ว่าจะพบกับปัญหาอะไรที่ตามมาในอนาคตอันใกล้และจะมีปัญหาเรื่องสัดส่วนงบประมาณระหว่างรายรับกับรายจ่ายหรือไม่ เนื่องจากการคาดการณ์ในการจัดเก็บรายได้ยังเท่าเดิม

ต้องยอมรับว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความเสี่ยงสูง ทั้งวินัยการเงินการคลัง และเสถียรภาพของรัฐบาล รวมทั้งโครงการสุดยอดประชานิยมที่รัฐบาลได้ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ในเดือน พ.ค.นี้จากจะเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่บรรจุใหม่แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังมีเงินเดือน 3 พันบาทให้กับ ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ ที่จะมอบให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุเปราะบาง ปีแรกตั้งงบรอบรับไว้ที่ 1,100 ราย จากจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรไทย แสดงว่ายังไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ประเด็นสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปที่รัฐบาลจะปฏิเสธในการรับภาระไม่ได้ นอกจากจะปล่อยให้อยู่แบบอนาถา

ตัวเลขล่าสุดจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้ภาคครัวเรือนของคนไทยเฉลี่ยเดือนละ 2.9 หมื่นบาท ร้อยละ 70 เป็นรายได้ที่มาจากการทำงาน เงินเดือนค่าจ้าง คนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคแรงงาน ในขณะที่รายจ่ายภาคครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 2.3 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ

หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.9 แสนบาท เป็นหนี้ค่าบ้าน ค่ารถ การใช้จ่ายในครัวเรือน การศึกษา หนี้สินที่ใช้ในการทำการเกษตร เฉลี่ย 2.7 หมื่นบาทต่อครัวเรือน หนี้สินทำธุรกิจเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

อยู่ในอาการป่วยทั้งภาครัฐและประชาชน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ