ไม่ลดวันนี้ วันหน้าต้องลด เศรษฐกิจโตต่ำ แต่หนี้พุ่ง ระเบิดเวลา บังคับ กนง.ต้องปรับดอกเบี้ยเหลือ 2%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไม่ลดวันนี้ วันหน้าต้องลด เศรษฐกิจโตต่ำ แต่หนี้พุ่ง ระเบิดเวลา บังคับ กนง.ต้องปรับดอกเบี้ยเหลือ 2%

Date Time: 11 เม.ย. 2567 13:56 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กรุงไทย-ไทยพาณิชย์ มอง เศรษฐกิจไทยโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กดดัน กนง.ปรับลดดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เหลือ 2% ปีนี้ เริ่มลดครั้งแรก เดือน มิ.ย นี้

Latest


เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2 กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี หักการคาดการณ์ ของเหล่านักวิเคราะห์ และความคาดหวังของรัฐบาลเศรษฐา ที่เรียกร้องให้ ธปท.ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน


ทั้งนี้ กนง.ให้เหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุน จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐ ที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น พร้อมปรับลดประมาณการว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 0.9%ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มต่ำลง หลังวิกฤติโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด พร้อมเน้นย้ำความกังวลหนี้ครัวเรือนสูงและให้ความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debtdeleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเปราะบางของเศรษฐกิจ การเงินในระยะยาว


ล่าสุดวันนี้ Krungthai COMPASS และ SCB EIC ได้ออกบทวิเคราะห์ ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ของ กนง. ในระยะต่อไป ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

กรุงไทย-SCB มองเศรษฐกิจโตต่ำ กดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ (ครั้งละ 25bps) สู่ระดับ 2.0% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิต อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีแนวโน้มผ่อนคลายลง 

ด้าน SCB EIC มองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางของนโยบายการเงิน (Neutral stance) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะไม่กระตุ้นหรือฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจากระดับศักยภาพที่ประเมินใหม่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน อยู่สูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. และต่อเนื่อง ในเดือน ส.ค. สู่ระดับ 2% โดยประเมินแนวโน้มจากข้อมูลในอดีต และท่าทีในการประชุมครั้งล่าสุด ดังนี้


มติไม่เป็นเอกฉันท์ ส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ย

แม้รอบการประชุมนี้ กนง. จะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่จากการพิจารณาข้อมูลในอดีต SCB EIC มองว่า การมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ติดต่อกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการส่งสัญญาณ การเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า เนื่องจากเมื่อพิจารณาผลการประชุมในอดีตพบว่า กนง. มักจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดการเงิน ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งในการประชุมครั้งนี้ กนง. ยังเน้นสื่อสารปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการผลิต ประกอบกับกรรมการเสียงส่วนน้อย เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะสั้นคาดว่าจะมีผลไม่มากนักต่อการตัดสินใจของ กนง. เนื่องจาก กนง. มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำในช่วงหลัง COVID-19 อีกทั้งยังมองว่าข้อมูลเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศ และเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้ากรอบได้ช่วงปลายปีนี้

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์