สิ้นสุดการรอคอยแล้วสำหรับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา โดยวันนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ครั้งที่ 3/2567 มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ โดยให้ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4
โดยเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ มาจากในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังโควิด-19 และภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน
ประกอบกับในปี 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ของประเทศจะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประมาณไว้ และต่ำกว่าศักยภาพ โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน
แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
โครงการนี้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน โดยต้องมีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยต้องใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
ทั้งผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า โดยสินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ จะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2%-1.8% จากกรณีฐาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ
ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567.