ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค กำลังซื้อหด! ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-รถยนต์พุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค กำลังซื้อหด! ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-รถยนต์พุ่ง

Date Time: 6 เม.ย. 2567 06:44 น.

Summary

  • คลังเผยยอดปฏิเสธสินเชื่อ “บ้าน-รถยนต์” พุ่ง เหตุดอกเบี้ยแพง สนค.ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 67 ใหม่เป็น 0.0-1.0% จากเดิมลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ชี้แม้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 6 เดือน แต่ถือว่าเศรษฐกิจยังขยายตัว แต่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่นักวิชาการชี้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รับรายงานการอนุมัติสินเชื่อบ้านและรถยนต์ว่า มียอดการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ภาระค่างวดของสินเชื่อสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ผู้กู้มีรายได้เท่าเดิม เมื่อคำนวณรายจ่ายค่างวดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ จึงถูกปฏิเสธสินเชื่อ ทั้งนี้ เมื่อยอดการบริโภคลดลง ก็กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ทำให้รายได้รัฐบาลช่วงที่ผ่านมาเริ่มต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อรวมกับที่กระทรวงการคลังปรับลดภาษีต่างๆ เช่น ภาษีน้ำมัน ทำให้รายได้รัฐบาลหายไป จึงมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินมาช่วยประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และการไหลออกของเงินทุน ซึ่งขณะนี้เงินไม่ได้เฟ้อ แต่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดด้วยซ้ำ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนเงินทุนไหลออกนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออก ซึ่งไหลออกมานานแล้ว เพราะผลตอบแทนต่างประเทศสูงกว่าในประเทศ “กรณีที่ห่วงว่าถ้าลดดอกเบี้ยแล้วเงินจะไหลออก เชื่อว่าออกไปนานแล้ว ขณะนี้ไทยดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% แต่สหรัฐฯ 6% ส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 4% นักลงทุนก็ไปอยู่ดี การคงดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วย แต่ต้นทุนของคนระดับล่างสูงขึ้น ทำให้กู้ในระบบไม่ได้ ก็หันไปกู้นอกระบบ หนี้ครัวเรือนก็สูง ปัญหาหนี้ก็พันกันไปเรื่อยๆ”

นายลวรณกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ระบุว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ควรแก้ในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะการลงทุนว่า เรื่องการลงทุนมีปัจจัยดอกเบี้ยเข้ามากระทบ ทุกวันนี้ดอกเบี้ยสูง ทำให้กระทบต่อแผนการลงทุน หากต้องการให้เกิดการลงทุน อัตราดอกเบี้ยก็ต้องเอื้อต่อการลงทุนด้วย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ใหม่เป็นขยายตัว 0.0-1.0% มีค่ากลาง 0.5% จากเดิมติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% มีค่ากลาง 0.7% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่คาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ราคาน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น โดยราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่อง เช่น แก๊สโซฮอล์ ใกล้ลิตรละ 40 บาท คาดว่าราคาอาหารสดทั้งเนื้อหมู ผักสดจะสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่แต่ในระดับต่ำ แม้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 6 เดือน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค.67 เท่ากับ 107.25 เทียบกับเดือน ก.พ.67 แล้วเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.03% แต่เมื่อเทียบกับ มี.ค.66 ลดลง 0.47% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เพราะราคาอาหารสดลดลง และฐานราคาเดือน มี.ค.66 อยู่ในระดับสูง ส่วนราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันปี 66 เพราะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐหากรวมเงินเฟ้อ 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 67 ลดลง 0.79% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค.67 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกลดลง 0.01% เทียบกับ ก.พ.67 และเพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับ มี.ค.66 เฉลี่ย 3 เดือน ปี 67 เพิ่มขึ้น 0.44% สำหรับแนวโน้มเดือน เม.ย.67 มีโอกาสบวกหรือลบ 0.1% แต่เดือน พ.ค. และ มิ.ย.จะกลับมาเป็นบวก ทำให้ไตรมาส 2 จะขยายตัวเป็นบวก 0.5-0.6% เพราะราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะเบนซิน ส่วนดีเซล ต้องรอดูมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าฐานปีก่อนต่ำ ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 6 เดือน ถือเป็นการเข้าสู่เงินฝืดทางเทคนิค และหากดูที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่เดือน มี.ค.67 เพิ่มขึ้นเพียง 0.37% เทียบกับ มี.ค.66 และเฉลี่ย 3 เดือน ปี 67 เพิ่มขึ้น 0.44% แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชนอ่อนแอ และเศรษฐกิจแผ่วแรงต่อเนื่อง อาจทำให้ กนง.ต้องลดดอกเบี้ย เพราะเรียลดีมานด์ลดลง ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องเร่งใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะภาคท่องเที่ยวและส่งออก ยังไม่สามารถดันให้ขึ้นมาได้ในไตรมาส 2 และ 3.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ