พาณิชย์ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ลดเสียหายจากสินค้านำเข้าดัมพ์ราคา-รัฐอุดหนุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ลดเสียหายจากสินค้านำเข้าดัมพ์ราคา-รัฐอุดหนุน

Date Time: 4 เม.ย. 2567 09:57 น.

Summary

  • จากกระแสข่าวการทะลักของสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ส่งผลต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตคนไทย ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมาตรการที่จะใช้เยียวยาทางการค้ากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากการนำเข้าสินค้านั้นๆ ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศได้รับความเสียหาย มีอะไรบ้าง และมีหลักเกณฑ์การใช้อย่างไร กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีคำตอบ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ “นสพ.ไทยรัฐ” ว่า กรณีที่มีสินค้านำเข้ามากเกินไป หรือนำเข้ามาแล้วมีการทุ่มตลาด หรือดัมพ์ราคา หรือรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกให้การอุดหนุน จนอุตสาหกรรมในประเทศเสียหาย กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานดูแลมาตรการเยียวยาทางการค้า มีมาตรการที่จะใช้ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ภายใต้ พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และมาตรการปกป้อง (SG) ภายใต้ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น

เยียวยาการค้าปกป้องผู้ผลิตภายใน

โดยการใช้แต่ละมาตรการ กรมเป็นผู้ไต่สวน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ คือ มาตรการ AD ต้องมีการทุ่มตลาดโดยสินค้านำเข้า (ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศผู้ส่งออก เทียบในระดับการค้าเดียวกัน เช่น ราคาหน้าโรงงาน) และผู้ผลิตไทยเสียหาย เช่น ปริมาณ/มูลค่าที่ขายลดลง กำไรลดลง หรือขาดทุน ส่วนแบ่งตลาด ผลผลิต ผลิตภาพลดลง ฯลฯ

ส่วน CVD คือ สินค้าที่ส่งออกมาไทย รัฐบาลประเทศผู้ผลิตให้การอุดหนุนที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ผลิตไทยเสียหาย เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับส่งออก ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น โดยการพิจารณาความเสียหายมีหลักการเช่นเดียวกับ AD และสุดท้าย SG มีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือทะลักเข้ามา และผู้ผลิตไทยเสียหายร้ายแรง ทั้งปริมาณนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดของสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับการขาย ผลผลิต ผลิตภาพ กำลังการผลิตลดลง กำไรลดลง หรือขาดทุน และจ้างงานลดลง

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

“ทุกมาตรการใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าที่มากเกินไป หรือทุ่มตลาด หรือมีการอุดหนุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตปรับตัวให้แข่งขันได้ เช่น การเรียกเก็บอากร AD เพิ่มเติมจากภาษีนำเข้า ส่วน SG จะเก็บอากรเพิ่ม หรือจำกัดปริมาณนำเข้า เพื่อลดหรือจำกัดการนำเข้าจากทุกประเทศ”

โดยปัจจุบันไทยใช้ AD กับสินค้านำเข้า 22 รายการ แบ่งเป็นกลุ่มเหล็ก 19 รายการ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็น เหล็กลวด เหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบ ท่อเหล็ก เป็นต้น และสินค้าอื่นอีก 3 รายการ คือ กรดซิตริก ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ และยางในรถจักรยานยนต์ โดย 22 ประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ส่วน SG ที่ผ่านมา ใช้กับ 4 สินค้า คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ เหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ บล็อกแก้ว และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H แต่ปัจจุบันยกเลิกใช้มาตรการแล้ว และยังไม่มีอุตสาหกรรมใดยื่นคำร้องขอใช้อีก และ CVD ก็ยังไม่มีอุตสาหกรรมใดยื่นขอใช้เช่นกัน

สำหรับสินค้าเกษตร ทั้ง 3 มาตรการใช้ได้เช่นกัน และยังมีมาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตร องค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะใช้ปกป้องเกษตรกรได้อีก แต่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรที่ไทยสงวนสิทธิไว้ใน WTO 23 รายการ เช่น นม นมผง เนย ฯลฯ

คู่ค้าใช้มาตรการกับสินค้าไทย

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการไม่ใช่ไทยใช้ฝ่ายเดียว แต่ประเทศคู่ค้าก็ใช้กับสินค้าไทยได้ด้วย ซึ่งนายรณรงค์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมี 18 ประเทศ เช่น อินเดีย สหรัฐฯ ตุรกี ออสเตรเลีย บราซิล ฯลฯ ใช้มาตรการ AD กับสินค้าไทย 90 กรณี ทั้งเหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ ซึ่งผู้ส่งออกที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องตอบแบบสอบถาม และให้ข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานของประเทศที่เปิดไต่สวน ส่วนกรมจะให้คำแนะนำการตอบแบบสอบถาม และร่วมแสดงความเห็นเพื่อกำชับให้ผู้ไต่สวนคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ประเทศที่ใช้มาตรการ CVD กับสินค้าไทย ได้แก่ อินเดีย สินค้าหลอดและท่อทองแดง และกรดไขมัน ส่วนเวียดนาม น้ำตาล และสหรัฐฯ เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งกรมเป็นหน่วยประสานงานกลางในการแก้ต่างในส่วนของภาครัฐ ขณะที่มาตรการ SG มี 10 ประเทศใช้มาตรการกับสินค้าไทย 19 กรณี เช่น สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร สินค้าเหล็ก, สหรัฐฯ เซลล์แสงอาทิตย์, อินโดนีเซีย เส้นใยสังเคราะห์ น้ำเชื่อมฟรุกโตส และพรมปูพื้น เป็นต้น ซึ่งกรมช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยการพิจารณาข้อมูลการไต่สวนว่าเป็นไปตามสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลง SG ของ WTO หรือไม่ อย่างไร และแสดงข้อคิดเห็นต่อหน่วยงานไต่สวนของประเทศผู้ใช้มาตรการ

จ่อเก็บ VAT ของนำเข้าสั่งซื้อออนไลน์

ขณะที่การนำเข้าสินค้าผ่านการซื้อขายทางออนไลน์ที่ผู้บริโภคสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก จนกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น นายรณรงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ และเสนอกระทรวงการคลังตามที่ภาคเอกชนเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าในทุกกรณี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ผลิตในประเทศ ล่าสุด กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จัดเก็บได้ต่อไป พร้อมกับเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการนำเข้าอย่างเข้มงวดป้องกันการลักลอบนำเข้า และหลบเลี่ยงมาตรการนำเข้า รวมถึงเร่งรัดออกมาตรฐานบังคับสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งมอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบและปราบปรามการนำเข้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมอบกรมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หากต้องการยื่นคำขอใช้มาตรการ

ส่วนสินค้านำเข้าที่หลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD ของไทยนั้น กรมอยู่ระหว่างไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AC) 1 กรณี ซึ่งถือเป็นกรณีแรกที่เปิดไต่สวน คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและเป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เพื่อขยายการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนเจืออัลลอย จากผู้ผลิตจีน 17 ราย เนื่องจากพบว่า มีการนำเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและเป็นม้วนจากจีน ที่ไทยเก็บอากร AD อัตรา 30.91% มาเจืออัลลอย ทำให้เหล็กคุณสมบัติต่างจากเดิม เพื่อหวังหลบเลี่ยงเสียอากร ซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กไทย หากไต่สวนแล้วพบว่า หลบเลี่ยงจริง จะประกาศขยายการเก็บอากร AD ไปสู่เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนเจืออัลลอย คาดว่าจะประกาศผลไต่สวนชั้นที่สุดเดือน มิ.ย.นี้

“แม้การใช้มาตรการจะคุ้มครองและลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม ช่วยให้แข่งขันกับผู้ส่งออกต่างประเทศได้ แต่การจะใช้มาตรการใดๆ ต้องคำนึงถึงผู้บริโภค ผู้ใช้ ที่เป็นกลางน้ำและปลายน้ำด้วย จะพิจารณาเพียงปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศไม่ได้ และต้องชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอย่างรอบคอบและรอบด้านด้วย”

ทั้งนี้ กรมพร้อมเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาทบทวนความจำเป็นการใช้มาตรการ โดยอาจยุติการเก็บอากร หรือเปลี่ยนแปลงอัตราจัดเก็บ หลังจากใช้มาตรการแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำขอให้ทบทวน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ