ลุ้นระทึกใบอนุญาต รง.4 "พิมพ์ภัทรา" แฉเอกชนฟ้อง "คุยแล้วไม่จบ"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้นระทึกใบอนุญาต รง.4 "พิมพ์ภัทรา" แฉเอกชนฟ้อง "คุยแล้วไม่จบ"

Date Time: 4 เม.ย. 2567 10:06 น.

Summary

  • “พิมพ์ภัทรา” ตอกกลางที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หลังเอกชนฟ้อง “คุยแล้วไม่จบ” สั่งขุดต้นตอแก้ปัญหารง.4 ตัวถ่วงลงทุน ดึง กรอ.–สอจ.เคลียร์ข้อมูล ห้ามใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน เจอตอใหญ่คำสั่งผู้บริหาร กรอ. ย้ำตอนเป็นประชาชนก็เคยมายื่นขอ รง.4 ก็เจอปัญหาเดียวกัน

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ภาคเอกชนร้องเรียน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ว่า มีความล่าช้าอย่างมาก ล่าสุด น.ส.พิมพ์ภัทราได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ซึ่งบรรยากาศภายในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยการแก้ปัญหาการออกใบอนุญาต รง.4 ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าของ กรอ. เช่น โยนเรื่องที่ค้างจาก กรอ. กลับไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่ง สอจ.บางจังหวัดก็ระบุว่า ได้ยื่นเรื่องเข้าไปให้กรอ.พิจารณารวม 6-7 เดือน ไม่มีความคืบหน้า พอมีการร้องเรียน กรอ.ก็โยนกลับมาให้ สอจ. ตรวจสอบเอกสารใหม่ น.ส.พิมพ์ภัทราจึงได้สั่งการให้ กรอ. และ สอจ.กลับไปทำข้อมูลให้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายติดปัญหาอะไร ติดที่ใคร อย่างไร และต่อไปจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตออย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

ขณะที่ รมว.อุตสาหกรรมได้กล่าวในที่ประชุมว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จนภาคเอกชนนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เรียกรมว.อุตสาหกรรมเข้าไปพบ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง และให้ติดตามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมได้พูดในที่ประชุมว่า นักลงทุนมาพูดกับตนว่า ปัญหาการยื่นขอรับใบอนุญาต รง.4 คือ คุยกับ กรอ.แล้วไม่จบ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้มากๆ ขอให้อธิบดี กรอ.เร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด

อีกประเด็นที่คาดว่า ทำให้การอนุมัติใบ รง.4 ล่าช้า คือ เมื่อปลายปี 2565 ได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงใน กรอ.รายหนึ่ง ออกคำสั่งเรื่องการขอใบอนุญาตให้กองงานที่รับผิดชอบเสนอการขอใบอนุญาต ต้องเสนอเรื่องให้ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของ กรอ.เห็นชอบก่อน ที่จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อน เสียเวลา ต้องรอให้คนคนเดียวตรวจสอบ เหมือนสมัยก่อน ที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาต ทำให้ล่าช้า ถูกร้องเรียนเชิงลบอย่างหนัก จนต้องยุบออกไป

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังพบปัญหาช่องว่างระหว่าง กรอ. และ สอจ. กรณีที่ สอจ.ต้องตรวจสอบคำขออนุญาต พร้อมข้อมูลที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อส่งให้ กรอ.พิจารณา แต่เจ้าหน้าที่ กรอ.อาจขอข้อมูลหรือคำชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นคำขออนุญาตอีก ส่วนมากขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มองว่าตรงจุดนี้ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่อไปต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ จึงให้ทุกฝ่ายกลับไปเช็กขั้นตอน รายละเอียดทั้งหมด ให้ขั้นตอนเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ขั้นตอนอนุมัติเร็วขึ้น และให้เร่งแก้ไขคำขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบให้หมดภายใน 30 วัน

“สมัยก่อนดิฉันเป็นประชาชนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็เคยมาขอใบอนุญาตที่กรอ.ก็ประสบปัญหามาก่อน เข้าใจความรู้สึกดี และต้องไม่ให้เกิดในยุคนี้”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องใบ รง.4 กับ น.ส.พิมพ์ภัทราและได้รับรายงานว่า ขณะนี้จำนวนใบขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบได้ลดลงไปมากแล้ว ไม่เกินกลางเดือน พ.ค.นี้ น่าจะเคลียร์ส่วนที่ค้างได้หมด กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับขั้นตอนในการขออนุญาตให้สั้น รวดเร็วขึ้น ถ้าตั้งโรงงานได้เร็วขึ้นหนึ่งวัน โอกาสการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเร็วอีกหนึ่งวัน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ