“หนี้ครัวเรือน” ส่อพุ่ง 16.8 ล้านล้าน ย้ำปัญหา รายได้ไม่พอใช้จ่าย แม้คนไทยลด “ก่อหนี้” ก้อนใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“หนี้ครัวเรือน” ส่อพุ่ง 16.8 ล้านล้าน ย้ำปัญหา รายได้ไม่พอใช้จ่าย แม้คนไทยลด “ก่อหนี้” ก้อนใหม่

Date Time: 3 เม.ย. 2567 10:08 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ยอดคงค้าง “หนี้ครัวเรือนไทย” ปี 2567 อาจขยับขึ้นแตะ 16.8 ล้านล้านบาท ย้ำปัญหา รายได้คนไทยไม่พอใช้จ่าย วิกฤติเชิงโครงสร้าง แม้แนวโน้มซื้อรถ-ซื้อบ้านใหม่ลดลง รอดอกเบี้ยต่ำ แต่กู้หนี้นอกระบบมาประคองชีวิตประจำวันยังเร่งตัว

Latest


ปัญหารายได้ไม่พอ “รายจ่าย” ในระดับครัวเรือนไทย ยังคงเป็นสัญญาณน่าห่วง สำหรับวิกฤติหนี้ครัวเรือนไทย และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2567 อาจยังสูงกว่าระดับ 91.0% ต่อจีดีพี แม้จะมีแนวโน้มดีจากการชำระคืนหนี้ และการขยายตัวช้าของสินเชื่อปล่อยใหม่

คาดหนี้ครัวเรือนไทย ไต่ระดับ 16.8 ล้านล้าน 

สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2567 คาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นแตะระดับ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี หนี้สินส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย 

แม้หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยอดคงค้างหนี้ ยังคงสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ  

จากสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุด ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนไทยปี 2566 เติบโต 3.0% (นับเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่ต่ำที่สุดของข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ปรับปรุงนิยามใหม่ที่สามารถนับย้อนหลังได้ถึงปี 2555) มาอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565

พบครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องประจำวัน ขณะที่การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ (บ้านและรถยนต์) ชะลอลงมากในปี 2566 ตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว 

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนชะลอการเติบโตกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจ แต่เมื่อดูในรายละเอียดของหนี้แล้ว ยังคงพบสัญญาณว่าครัวเรือนที่ก่อหนี้เพิ่ม น่าจะเป็นครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง หรือเป็นครัวเรือนที่ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อประคองสภาพคล่องและใช้จ่ายใน 2 ชีวิตประจำวัน

  • หนี้ในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตสูงต่อเนื่อง 
  • หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นที่นอกเหนือจากหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังเร่งตัวขึ้นเร็ว
  • เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่อง

“แนวโน้มทั้งปี 2567 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหนี้ครัวเรือนอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.0% ในปี 2567 เทียบกับที่เติบโต 3.0% ในปี 2566 โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี (ภายใต้สมมติฐาน Nominal GDP ปี2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6%) ชะลอลงระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566”

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์