สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ยังอยู่ในระดับสูงและสร้างความกังวลให้เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมปี 2566 พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (GDP) สูงถึง 90.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับสถานการณ์ หนี้เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน กดดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น จนทำให้มีหนี้เสียสูงถึง 14.64% ในปี 2565
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานตามมาตรการของรัฐบาล และในส่วนของ ธ.ก.ส. ทำให้ผลการดำเนินงานปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566–31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. สามารถลด NPLs ลงมาที่ 5.5% โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือ และเทคโนโลยีการดูแลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 4% ตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารในปีบัญชี 2567
ในส่วนของบทบาทหลัก ธ.ก.ส. ได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และกระตุ้นการลงทุนภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 859,575 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงเหลือ 1.69 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปีบัญชี 51,736 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.16% มียอดเงินฝากสะสม 1.89 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปี 58,822 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.22%
ผ่านการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น สลาก ธ.ก.ส. ชุด ถุงทอง วงเงิน 100,000 ล้านบาท และสลากดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์ จำนวน 2.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.72% หนี้สินรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนของเจ้าของ 158,865 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 12.75% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
ด้านการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ให้กับเกษตรกรที่มีหนี้รวมต้นเงินคงค้างทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. BAAC Mobile ถึง 1.84 ล้านราย คิดเป็น 92% ของจำนวนลูกค้าที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ
โดยในจำนวนลูกค้าที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้แล้วจำนวน 1.39 ล้านราย หรือคิดเป็น 80% ของผู้แจ้งความประสงค์ร่วมมาตรการ และในจำนวนนี้มีลูกค้าที่แสดงความประสงค์ เข้าหลักสูตรการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” แล้วจำนวน 1.3 แสนราย
โดยธนาคารจะดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ให้ได้จำนวน 3 แสนรายภายในเดือนกันยายน 2567 ขณะที่ มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ ผ่านสินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบ วงเงินไม่เกิน 20,000 บาท จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 545 ล้านบาท และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน 9,572 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาและลดภาระการเป็นหนี้ในอนาคตผ่านโครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 713,013 ราย เป็นเงินกว่า 60,389 ล้านบาท
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney