“เศรษฐกิจไทย” ไตรมาสแรก ส่อแววโตต่ำ ยอดส่งออก 2 เดือนแรกพลาดเป้า อุตสาหกรรมแข่งยาก ปรับไม่ทันโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“เศรษฐกิจไทย” ไตรมาสแรก ส่อแววโตต่ำ ยอดส่งออก 2 เดือนแรกพลาดเป้า อุตสาหกรรมแข่งยาก ปรับไม่ทันโลก

Date Time: 2 เม.ย. 2567 10:08 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ผ่าบทวิเคราะห์ "เศรษฐกิจ" วิจัยกรุงศรี ห่วงเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 67 มีแนวโน้มเติบโตต่ำ การขยายตัวกระจุกแค่ในภาพท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังเปราะบาง ยอดส่งออก 2 เดือนแรกต่ำกว่าปีก่อน พบหลายอุตสาหกรรมส่อสูญเสียความสามารถการแข่งขัน ปรับการผลิตไม่ทันความต้องการของโลก

Latest


วิจัยกรุงศรี ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยล่าสุด ว่า เศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยังเป็นภาพการฟื้นที่กระจุกตัวอยู่ในภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทำให้โดยภาพรวมแล้วยังเติบโตต่ำ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า แรงหนุนใหญ่ยังมาจากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว โดยทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายรับท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากเดือนก่อน (+20.1% และ +9.3% ตามลำดับ) 

ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตามการส่งออกที่ไม่รวมทองคำปรับลดลงจากเดือนก่อน (-2.9%) รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ผลกระทบจากความล่าช้าของการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

การท่องเที่ยว พยุงเศรษฐกิจไทย 

โดยเศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 ได้แรงหนุนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวซึ่งมีสัญญาณบวกมากขึ้นทั้งทางด้านจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวเข้าใกล้สู่ช่วงก่อนเกิดโควิด (คิดเป็น 87% และ 88% ของช่วงเดียวกันปี 2562 ตามลำดับ) ปัจจัยหนุนจากมาตรการ Visa-Free แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน 

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวแม้จะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นระยะสั้นผ่านโครงการ Easy-E-Receipt ก็ตาม  

“การหดตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐจึงคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกมีแนวโน้มอาจเติบโตในระดับต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ต้นเดือนเมษายนนี้” 

อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 400 บาท สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พักระดับ 4 ดาวขึ้นไป ในบางพื้นที่ของ 10 จังหวัดที่มีรายได้สูงจากภาคท่องเที่ยว มีผลวันที่ 13 เมษายนนี้ ซึ่งอาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อให้กับแรงงานบางส่วนได้บ้างเล็กน้อย

ส่งออกไทยท้าทาย 2 เดือนแรกพลาดเป้า ขยายต่ำกว่าปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังมีปัจจัยท้าทาย แม้มูลค่าส่งออกเดือนกุมภาพันธ์จะเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 23.4 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.6% YoY (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 4.4%) ชะลอลงจาก 10.0% ในเดือนมกราคม และหากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 2.3% 

โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว (+53.6%) ยางพารา (+31.7%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+24.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+18.0%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-5.6%) แผงวงจรไฟฟ้า (-13.2%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-24.2%) และน้ำตาลทราย (-34.9%)  

ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และ CLMV ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น จีน และอาเซียน กลับมาหดตัว สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 6.7%

“แม้การส่งออกของหลายๆ ประเทศในเอเชียทยอยฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และภาวะชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกเฉลี่ยอยูที่ 23.0 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อนที่ 23.7 พันล้านดอลลาร์” 

อุตสาหกรรมไทย กำลังสูญเสียความสามารถ 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามการส่งออกในเดือนมีนาคม เนื่องจากปัจจัยจากฐานที่สูงถึง 28 พันล้านดอลลาร์ อาจทำให้ส่งออกกลับมาติดลบ นอกจากนี้การส่งออกยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตไทยที่อ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดภาคการผลิตของไทยเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ในแดนหดตัว (< 50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สวนทางกับ PMI ภาคการผลิตของโลกและอาเซียน ซึ่งทยอยปรับขึ้นอยู่ในแดนขยายตัว (> 50) อย่างต่อเนื่อง 

“สะท้อนว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยหลายกลุ่มอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการสินค้าในโลก การฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้จึงยังมีความไม่แน่นอน และมีแนวโน้มที่อาจเติบโตต่ำที่ 2.5%”. 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ