ดิจิทัลวอลเล็ต อาจดันหนี้สาธารณะ World Bank หั่น GDP ไทยเหลือ 2.8% แนะทางรอดเร่งแก้วิกฤติทุนมนุษย์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดิจิทัลวอลเล็ต อาจดันหนี้สาธารณะ World Bank หั่น GDP ไทยเหลือ 2.8% แนะทางรอดเร่งแก้วิกฤติทุนมนุษย์

Date Time: 1 เม.ย. 2567 17:42 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ธนาคารโลก (World Bank) หั่น GDP ไทยเหลือ 2.8% ผลกระทบดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ดันหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 2% แนะทางรอดเร่งแก้วิกฤติทุนมนุษย์ ลงทุนนานแต่คุ้มค่า ปลดล็อกศักยภาพประเทศ

Latest


ธนาคารโลก (World Bank) รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดือนเมษายน 2567 โดยเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลก ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทย เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.2% ซึ่งไม่รวมผลโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ การฟื้นตัวของการค้าโลก และปัจจัยภายในอย่างการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า ซึ่งทำให้การลงทุนภายในประเทศชะลอลง รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการคลังในระยะกลาง 

ทั้งนี้ ธนาคารโลก คาดว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นให้ GDP เติบโตขึ้น 1% เนื่องจากโครงการครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน และจะกดดันให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 2% อย่างไรก็ตาม หากโครงการแจกเงิน สามารถประกาศใช้ก่อนในไตรมาส 3/2567 จากกำหนดการเดิม ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินในช่วงไตรมาส 4/2567 จะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก ได้เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (Systematic Country Diag-nostic: SCD) และระบุความท้าทาย 5 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2580 ได้แก่ 

1. การพัฒนาทุนมนุษย์

2. เศรษฐกิจที่ด้อยศักยภาพการแข่งขัน

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง

4. ความเสื่อมโทรมด้านธรรมชาติ และปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

5. ความอ่อนแอเชิงสถาบัน

ยกระดับอาชีพเกษตรกร ดันคนแก่ขับเคลื่อนประเทศ

แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ แต่ผู้สูงอายุยังเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และทำงานกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรม จึงต้องพัฒนาภาคเกษตร และตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การประกอบอาชีพในภาคเกษตร มีรายได้ที่ยั่งยืน โดยธนาคารโลกมองว่าต้องมีการยกระดับการพัฒนา 3 ภาคส่วน ได้แก่ 

1. พัฒนาทรัพยากรน้ำ ที่ขาดแคลนในบางท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น การสร้างเขื่อน หรือ Nature based resource 

2. พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากหลายพื้นที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ไม่ดี ทำให้การทำเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งการจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร จะต้องมีระบบน้ำและโลจิสติกส์ที่ดี

3. พัฒนาเมืองรอง เพื่อเพิ่มการสร้างงานใหม่ในแต่ละท้องถิ่น เมื่อท้องถิ่นสามารถระดมทุนเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบน้ำและโลจิสติกส์ จะเป็นช่องทางที่ผลักดันให้เมืองรองเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รวมถึงคนในพื้นที่ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น

ทุนมนุษย์ปัญหาเร่งด่วน ลงทุนนาน แต่เห็นผล

ท่ามกลางความท้าทาย 5 ด้าน ที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัญหาทุนมนุษย์เป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลการสอบวัดระดับ PISA ของไทย คะแนนตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางที่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงที่ยังต่ำ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทักษะและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลลัพธ์ระยะยาวประกอบด้วย เพราะการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ แม้การลงทุนจะใช้เวลานานมากถึงจะเห็นผล แต่ให้ผลลัพธ์ที่มหาศาล

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์