หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 “เศรษฐกิจไทยโตต่ำ” กลายเป็นประโยคฮิตที่คนไทยได้ยินจนคุ้นหู จากความกังวลเริ่มกลายเป็นความชินชา เพราะมองไม่เห็นทางออก เช่นเดียวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังทรงๆ
แม้ดัชนีความเหลื่อมล้ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อดูไส้ใน จะพบว่าสาเหตุการลดลงมาจากการที่คนจนมีการถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ตามมาด้วยภาระหนี้ก้อนโต สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ได้มีความเท่าเทียมมากขึ้นแต่อย่างใด
ศูนย์วิจัยความเหลื่อมลํ้าและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทางวิชาการในซีรีส์ “ภูมิทัศน์ใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย” ตอนที่ 2: “เศรษฐกิจไทย ปัญหาเก่าในวิกฤติใหม่?” เพื่อชำแหละรากปัญหา และร่วมหาทางออกความเหลื่อมล้ำในภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทย
Thairath Money สรุปสาระสำคัญ การบรรยายหัวข้อ “อำนาจตลาด และการยึดกุมกลไกกำกับดูแลของไทย” โดย สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ก่อนที่จะไปดูสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ เราต้องทำความเข้าใจนิยามปัญหากลไกกำกับดูแลตลาดในประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างค่าเช่าเลวและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสียก่อน
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอยู่กับกับดัก “ค่าเช่าเลว” หรือที่คุ้นเคยกันในฐานะ “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ที่นักธุรกิจสามารถเข้าสู่การเมือง และไปครอบงำให้รัฐออกนโยบายเอื้อประโยชน์ส่วนตน นำไปสู่ค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่สังคมไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น
อำนาจเหนือตลาดของกลุ่มธุรกิจ กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้การจับตามองอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในสหรัฐอเมริกา เมื่อย้อนกลับไปดูพัฒนาการบริษัทจดทะเบียน ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า 10 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในปี 2460 ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว
ในขณะที่ในปี 2560 บริษัท 5 อันดับแรกที่มีมูลค่ามากที่สุด กว่าหลายแสนล้านดอลลาร์ ล้วนกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้แก่ Apple, Alphabet, Microsoft, Amazon และ Facebook ซึ่งการประเมินอำนาจการผูกขาดโดยการใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนแบ่งตลาด รายได้และกำไร อาจจะไม่เห็นอำนาจการจัดการข้อมูลที่อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทเทคโนโลยีสามารถยกระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผ่านโมเดลธุรกิจที่ให้ทดลองใช้เทคโนโลยีฟรี ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่สำหรับผู้กำกับดูแลในสหรัฐฯ ที่ต้องกลับมาทบทวนว่ากฎหมายป้องกันการผูกขาดที่มีอยู่ ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันอำนาจเหนือตลาดรูปแบบใหม่ได้หรือไม่
ทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ เราจะเห็นผู้กำกับดูแลตลาดในสหรัฐฯ เดินหน้าตรวจสอบ และสั่งฟ้องบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่บ่อยขึ้น
เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์อำนาจตลาดในประเทศไทย พบว่าเมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการระหว่างปี 2545 กับปี 2565 บริษัทใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทหน้าเดิมที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ได้สัมปทานจากรัฐบาล และ 6 ใน 10 บริษัทมีการควบรวบ หรือเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ได้แก่ GULF-AIS, CP-MAKRO และ PTT-PTTEP ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่า ทุนนิยมไทยมีการแข่งขันด้านนวัตกรรมมากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลจากรายงานวิจัยของ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ทำการศึกษาอำนาจการผูกขาดบริษัทในไทยจำนวน 80,000 แห่ง อ้างอิงข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2559 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีส่วนแบ่งรายได้ 90% ของรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 85% ในปี 2547
นอกจากนี้ผู้ถือหุ้น 500 คน ยังมีการถือครองหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด เป็นสัดส่วนมากถึง 30% ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของหุ้นในคนกลุ่มเดียว แม้ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำกับดูแลการแข่งขันของภาคธุรกิจ ป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดที่สร้างความไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ กลไกลอำนาจเหนือตลาดจะไม่เป็นปัญหา หากไม่มีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการกีดกันผู้เล่นรายอื่นในตลาด
อ้างอิงข้อมูลสัดส่วนการถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดตามกลุ่มธุรกิจ โดย ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่งมากที่สุด มีดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจแปรรูปอาหารสัตว์
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาด
มีรายได้ 4,474 ล้านบาท
ครองสัดส่วนในตลาด 39%
*รายได้รวมในกลุ่ม 11,336 ล้านบาท
2. กลุ่มธุรกิจด้านการผลิตอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาด
มีรายได้ 27,547 ล้านบาท
ครองสัดส่วนในตลาด 41%
*รายได้รวมในกลุ่ม 66,536 ล้านบาท
3. กลุ่มค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาด
มีรายได้ 302,584 ล้านบาท
ครองสัดส่วนในตลาด 86%
*รายได้รวมในกลุ่ม 351,282 ล้านบาท
4. กลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาด
มีรายได้ 39,864 ล้านบาท
ครองสัดส่วนในตลาด 15%
*รายได้รวมในกลุ่ม 273,689 ล้านบาท
5. กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาด
มีรายได้ 73,174 ล้านบาท
ครองสัดส่วนในตลาด 38%
*รายได้รวมในกลุ่ม 192,565 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลข้างต้น กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าตลาดมีส่วนส่วนแบ่งน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เจ้าตลาดครองส่วนแบ่งเกือบ 90%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับคนไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำ และมีความสำคัญต่อต้นทุนธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องซื้อวัตถุดิบจากเจ้าใหญ่
ทั้งนี้ งานวิจัยของกฤษฎ์เลิศ ยังศึกษาถึงผลกระทบของอำนาจตลาดของบริษัทไทยเพิ่มเติม พบว่าบริษัทไทยที่มีอำนาจตลาดสูง มีลักษณะร่วมกันดังนี้
• มีอัตราการเติบโตของผลิตภาพต่ำ
• มีแนวโน้มที่จะส่งออกและโอกาสที่จะอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ
• มีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกและจำนวนประเทศปลายทางน้อย
• มีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำ
• มีอัตราการลงทุนต่ำ
แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีจากหน่วยงานกำกับดูแล หลังมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าไปเมื่อปี 2560 แต่เมื่อมาพิจารณาขอบเขตกฎหมาย และความจริงจังในการใช้อำนาจกำกับดูแล พบว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ายังไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของกฎหมายใหม่ ซึ่งกำหนดให้ว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจหน้าที่ “เสนอความเห็น” และ “เสนอแนะ” ต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐด้านการแข่งขันทางการค้า และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้า ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของกฎหมายที่อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไทย สวมหมวกแนวคิดนักธุรกิจ มากกว่าแนวคิดแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และเอื้อประโยชน์ธุรกิจโดยไม่รู้ตัว สะท้อนจากโครงสร้างคณะกรรมการกำกับดูแลในบางอุตสาหกรรม เช่น ไข่ไก่ พันธุ์พืช และปุ๋ย ที่เอื้อให้เอกชนเข้ามามีอำนาจในสัดส่วนมากถึง 30%
ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล ได้ตั้งข้อสังเกตปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ไว้ดังนี้
1. ยังไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น การควบรวมกิจการของ Grab/Uber ในปี ค.ศ. 2018 หลังจากที่ได้ประกาศว่าจะเข้าซื้อกิจการของ Uber ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Grab นำบริการ ridesharing และการจัดส่งอาหารของ Uber ในภูมิภาคนี้เข้ามารวมกับแพลตฟอร์มฟินเทค (fintech platform) และการขนส่งหลายรูปแบบที่ Grab มีอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้ คาดว่าจะเพิ่มอำนาจตลาดของ Grab อย่างมหาศาล และส่งผลเชิงลบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม มีเพียงประเทศสิงคโปร์และฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการกำกับกรณีนี้ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการดังกล่าว
2. ยังไม่มีการใช้มาตรการยกเว้นและลดหย่อนโทษ (Leniency Programme) เพื่อจูงใจให้ผู้ร่วมกระทำความผิด ร่วมมือกันเปิดโปงดีลธุรกิจลับที่จำกัดการแข่งขันในตลาด ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการตรวจจับ และรับมือกับการ “ฮั้ว”
โดยทั่วไป ปัจจัยที่ทำให้มาตรการลดหย่อนโทษประสบความสำเร็จ ได้แก่แรงจูงใจที่น่าดึงดูด การบังคับใช้ตัวบทกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและความชัดเจน การปกปิดข้อมูลของผู้สารภาพ ความแน่ชัดของลำดับของผู้สารภาพ และความต่อเนื่องของความร่วมมือในการสารภาพจนสิ้นกระบวนการ
3. มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงาน ดังนี้
ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็น “ปม” เศรษฐกิจไทยให้โตต่ำ ผลิตภาพน้อย และถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney