ส่อแววโตแบบหดหู่! ส่งออกไทยปี 67 อาจขยายแค่ 1.8% “ผลิตของ” ไม่ตอบโจทย์ตลาดโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่อแววโตแบบหดหู่! ส่งออกไทยปี 67 อาจขยายแค่ 1.8% “ผลิตของ” ไม่ตอบโจทย์ตลาดโลก

Date Time: 27 มี.ค. 2567 18:10 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ส่งออกไทยปี 67 ส่อแววโตแบบหดหู่ กรุงไทยคาดขยายตัวแค่ 1.8% จากความต้องการสินค้าฟื้นช้า ผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์ตลาดโลก ฉุดศักยภาพต่ำกว่าอาเซียน

Latest


“ภาคการส่งออก” หนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ ที่ถูกคาดหวังให้เป็น “เดอะแบก” ดึงเศรษฐกิจไทยให้ผงาดขึ้นจากหลุมโตต่ำในปีนี้ หลังจากส่งสัญญาณฟื้นตัว อย่างต่อเนื่อง หลายเดือนติด ตามทิศทางการค้าโลกที่ฟื้นตัวจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว


ล่าสุด Krungthai COMPASS ศูนย์วิจัยของธนาคารกรุงไทย เปิดเผยแนวโน้มการส่งออกไทย พบว่า ในเดือน ก.พ. มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 23,384.9 ล้านดอลลาร์ โดยเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ขยายตัวที่ 3.6% แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10% และหากพิจารณาการส่งออก ที่ไม่รวมทองคำ จะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น


โดยการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง สำหรับการส่งออกทองคำขยายตัว 309.5% ทั้งนี้การส่งออก 2 เดือนแรกขยายตัว 6.7% 

สินค้าเกษตรหดตัว ส่งออกข้าว ยางพารา ยังไปไหว

  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 5.2% แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 24.9% อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ 6.5% ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5.6% แผงวงจรไฟฟ้า 13.2%
  • การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว 1.1% จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.2% ตามการกลับมาหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ 9.2% โดยสินค้าเกษตรเติบโต 7.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว 53.6% ยางพารา 31.7% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 7.7% ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 20.5% น้ำตาลทราย 34.9% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 24.2% และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 77.0% เป็นต้น

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังจีนและ ASEAN-5 กลับมาหดตัว ขณะที่ตลาดหลักสำคัญ โดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มี.ค. 67 (Flash Manufacturing PMI) ซึ่งหดดตัวที่ระดับ 45.7 และ 48.2 สะท้อนถึงอุปสงค์ของสินค้า ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า  


โดยสาเหตุที่การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษ เช่น การส่งทองคำที่ขยายตัวขึ้นมาก ซึ่งไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม กรุงไทยประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% 

ส่งออกไทย ศักยภาพต่ำ สินค้าไม่ตอบโจทย์โลก

แม้ภาคการผลิตโลกจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว แต่ภาคการผลิตไทย ที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด สะท้อน จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2566 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2560 – 2562 อีกทั้งสินค้าไทยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ตลาดโลก SCB EIC มองว่า ไทยยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันความต้องการสินค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีนัก สะท้อนจากดัชนีความสามารถ ในการปรับตัวต่ออุปสงค์โลก (Adaptation effect index) ต่อการเปลี่ยนแปลง ของสัดส่วนการครองตลาดโลก (Relative change of world market share) ที่ยังติดลบในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

อีกทั้งศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค สะท้อนจากข้อมูล Export potential หรือมูลค่าศักยภาพการส่งออกของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จัดทำโดย International Trade Centre ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนั้น หากพิจารณารายอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้ายานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง

ดังนั้น ภาคการผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์