คลังชง 7 แบงก์รัฐลดดอกเบี้ย กดดัน กนง.-ธ.พาณิชย์ลดตาม! หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คลังชง 7 แบงก์รัฐลดดอกเบี้ย กดดัน กนง.-ธ.พาณิชย์ลดตาม! หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

Date Time: 23 มี.ค. 2567 05:03 น.

Summary

  • คลัง ชง ครม.เคาะมาตรการการเงิน ให้แบงก์รัฐลดและตรึงดอกเบี้ย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณแบงก์พาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าด้วย หวังประชุม กนง.วันที่ 10 เม.ย.นี้ จะลดดอกเบี้ยนโยบายประคองเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าการประชุม ครม. วันที่ 26 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการการเงินให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยให้สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่ง นำร่องลดดอกเบี้ยและตรึงดอกเบี้ยให้กับประชาชน

ส่วนมาตรการที่เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.สินเชื่ออิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน สนับสนุนเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และศูนย์กลางอาหาร 2.โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคน โดยออมสินได้เตรียมวงเงินให้ผู้มีสิทธิดังกล่าวเข้าถึงสินเชื่อเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ 3.สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.สินเชื่อที่อยู่อาศัย จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 5.สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการส่งออกจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ “การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยลูกหนี้ครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปถึงธนาคารพาณิชย์ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระประชาชนเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งการลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16%”

นายพรชัยกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ถือเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคากระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนไปกว่า 400,000 ล้านบาท และยังเดินหน้าช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล

“การช่วยเหลือประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเงินทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) มี แนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถาบันการเงินรัฐที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัยและเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% ส่วน SM ของแบงก์รัฐทั้งหมดอยู่ที่ 5% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้คาดหวังว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย.นี้ กนง.จะพิจารณารอบด้านและปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จาก 2.50% ลง เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้เกิดขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดือน เม.ย.นี้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมพร้อมทั้งระบบการเบิกเงินของกรมบัญชีกลาง การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ สามารถเบิกจ่ายได้ทันที เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายเวลาการนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจจาก 0.25% ต่อปี เหลือ 0.125% ออกไปอีก 1 ปี ดังนั้นสถาบันการเงินรัฐ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มฐานรากลูกหนี้นอกระบบ ทั้งลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับงวดการผ่อนและวงเงินชำระให้สอดคล้องกับลูกหนี้ โดยการช่วยเหลือลูกหนี้จะต้องมากกว่าหรือเท่ากับเงินนำส่งเข้ากองทุนฯที่ลดลง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ