หอการค้าลดเป้าจีดีพีโตแค่ 2.6% ปัจจัยกดดันเพียบ! แนะรัฐเร่งเบิกงบลงทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หอการค้าลดเป้าจีดีพีโตแค่ 2.6% ปัจจัยกดดันเพียบ! แนะรัฐเร่งเบิกงบลงทุน

Date Time: 20 มี.ค. 2567 07:15 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทยลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2.6% จากเดิมคาดโต 3.2% เหตุมีปัจจัยบั่นทอนสารพัด ทั้งการบริโภคภาครัฐ-เอกชนไม่โดดเด่น ลงทุนรัฐติดลบหนัก ส่งออกโตต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่ง แต่ยังมีโอกาสโตเกิน 3% ถ้า รัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ-รายได้ท่องเที่ยว เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ปีนี้มีโอกาสแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง 0.25-0.50%

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ได้ปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 67 ลง เหลือขยายตัว 2.6% จากการประมาณการเดือน ม.ค.67 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% มูลค่า 18.41 ล้านล้านบาท ลดจากเดิมที่คาด 19.15 ล้านล้านบาท ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดโต 2.8% ลดจาก 3.2%, การบริโภครัฐ คาดโต 1.5% จากเดิม 2.5%, การลงทุนรวม คาดโต 2.4% ลดจาก 3.0% จากการลดลงของการลงทุนเอกชน ที่เหลือโต 3.1% จาก 3.5% และการลงทุนรัฐ ติดลบหนักที่ 1.0% จากเดิมคาดบวก 1.7%

ส่วนการส่งออกสินค้า คาดโต 2.8% ลดจาก 3.0%, การนำเข้าคงที่ที่ 3.8% แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 1.61 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.48 ล้านล้านบาท, เงินเฟ้อทั่วไป คาดโต 1.0% จากเดิม 2.0%, อัตราว่างงาน 1.10% เพิ่มจาก 0.90% และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 89.8% จาก 87.8%

“แม้คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยได้ตามเป้าหมายที่ 35 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจ ไทยปรับขึ้นได้เกิน 3% คาดจะโตได้แค่ 2.6% เพราะการค้าโลกที่คาดว่าจะลดลงเหลือโต 3.3% จากเดิม 3.5% และกระทบการส่งออกไทย ส่วนการบริโภคเอกชน แม้ในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมาจะเติบโต แต่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่สดใส และการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐที่ต่ำกว่าคาด เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายยังไม่ผ่าน คาดจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังสงกรานต์ ซึ่งงบรายจ่ายประจำเร่งเบิกจ่ายได้ ไม่มีปัญหา แต่งบลงทุนอาจติดขัด ปัจจัยบั่นทอนเหล่านี้ล้วนบั่นทอนและฉุดให้จีดีพีหายไป 0.6% เหลือขยายตัวได้เพียง 2.6%”

อย่างไรก็ตาม หากรัฐต้องการผลักดันให้จีดีพีปีนี้โตได้เกิน 3.0% จำเป็นต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำและงบลงทุนทันที หลัง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านแล้ว หรือเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยทุกๆ 100,000 ล้านบาท ของ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐ มีผลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้ 0.52% และทุกๆ 100,000 ล้านบาทของงบลงทุนรัฐ มีผลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.68% รวมทั้งต้องเร่งมาตรการการคลังผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยทุกๆ 100,000 ล้านบาทของเงินที่โอนให้กลุ่มเป้าหมาย ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.26%

นอกจากนี้ ต้องเร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.26%, เพิ่มรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.56%, เพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้า ซึ่งทุกๆ 100,000 ล้านบาทของรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.60% และลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยทุกๆ 0.25% ของดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.12% หรือมีเงินหมุนในระบบเพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ หากรัฐยังทำล่าช้าก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำลงเรื่อยๆ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โจทย์ของรัฐบาลขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจปีนี้โตเกิน 3% หลังหลายสำนักคาดการณ์การเติบโตใกล้เคียงกันหมดที่ 2.6-2.8% ส่วนตัวเห็นว่ายังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ 3.1-3.5% ถ้ารัฐเร่งงบลงทุนตั้งแต่ เม.ย. จะทำให้ จีดีพีเพิ่มได้ทันที 0.51% ถ้าลงทุนเดือน พ.ค. จีดีพีจะเพิ่ม 0.45% หากช้าไปเรื่อยๆจะกดจีดีพี โตลดลงเรื่อยๆ

ต่อมาคือเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เร่งออกดิจิทัลวอลเล็ตที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านโยบายการเงินอย่างการลดดอกเบี้ย ซึ่งปีนี้มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้ง หรือ 0.25-0.50% หลังสหรัฐฯลดดอกเบี้ยแล้ว เพื่อพยุงให้เงินเฟ้อพื้นฐานที่เกิดจากการบริโภคที่แท้จริงยังขยายตัวได้ ไม่ติดลบ เพราะถ้ายังติดลบต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า กำลังซื้อประชาชนอ่อนแรง การลดดอกเบี้ยจะช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในระดับสูง จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบรูปตัวยู (U) คือการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน จากเดิมเป็นรูปตัวเค (K) ที่เฉพาะคนมีรายได้เท่านั้นที่ยังใช้จ่ายอยู่.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ