กรุงไทยคาด ค่าไฟปีนี้ อาจเหลือ 4.14 บาท ผลการจัดสรรก๊าซใหม่ ช่วยลดวิกฤติต้นทุนเอกชนได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กรุงไทยคาด ค่าไฟปีนี้ อาจเหลือ 4.14 บาท ผลการจัดสรรก๊าซใหม่ ช่วยลดวิกฤติต้นทุนเอกชนได้

Date Time: 18 มี.ค. 2567 20:11 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ภาคครัวเรือนและธุรกิจ มีลุ้นต้นทุนค่าไฟลด หลังรัฐบาลเปลี่ยนวิธีจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ คาดค่าไฟเหลือ 4.14 และ 4.11 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2567-2568

Latest


Krungthai COMPASS ประเมิน การเปลี่ยนวิธีจัดสรรก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยในช่วง ม.ค. 2567 คาดว่าจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงจาก 4.67 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2566 เป็น 4.14 และ 4.11 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2567-68 ช่วยลดต้นทุนภาคครัวเรือนและธุรกิจ


สถานการณ์ราคาไฟฟ้าในปัจจุบัน

พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.60 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2564 เป็น 4.67 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นราว 30% ในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตไฟฟ้า 

โดยราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 233 บาท/MMBTU ในปี 2564 เป็น 381 บาท/MMBTU (ราคาที่ขายให้กิจการผลิตไฟฟ้า: 366 บาท/MMBTU) ในปี 2566 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงมากในช่วงดังกล่าว เพื่อทดแทนการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หลังแหล่งเอราวัณ (G1/61) ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ตามสัญญาที่กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงค่าไฟฟ้าด้วย

โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างเข้มข้น เช่น ธุรกิจผลิตอโลหะ (กระเบื้อง และผลิตภัณฑ์แก้ว) และธุรกิจคลังสินค้า ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มนี้มีสัดส่วนต้นทุนไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่สูง เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ จึงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบการเหล่านั้น 

เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน กระทรวงพลังงานจึงได้ทำการเปลี่ยนวิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อลดราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าโดยรวมในระยะยาว

แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟ ปี 67-68

แนวทางการจัดสรรก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ คาดว่า ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool จะมีแนวโน้มลดลงจาก 381 บาท/MMBTU (ราคาสำหรับกิจการผลิตไฟฟ้า: 366 บาท/MMBTU) เป็น 296 บาท/MMBTU และ 277 บาท ในปี 2567-68 เนื่องจากการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบนี้ ทำให้สัดส่วน ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีต้นทุนต่ำสุดใน Pool Gas เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติถัวเฉลี่ย ตามสัดส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติจาก 3 แหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และ LNG ใน Pool Gas (ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool) ลดลง

ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลง และค่าไฟฟ้าในระยะยาวลดลงตามไปด้วย โดยค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย จะลดลงจาก 4.67 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2566 เป็น 4.14 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 4.11 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2567-68 ตามลำดับ

 

ภาคธุรกิจเตรียมเฮ ต้นทุนลด กำไรเพิ่ม

ค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2567-68 หลังจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในรูปแบบใหม่ จะผลดีต่อต้นทุนโดยรวมและกำไรสุทธิของภาคธุรกิจ 

โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น เช่น ธุรกิจคลังสินค้า และธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเข้มข้น เช่น ธุรกิจผลิตกระเบื้อง

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ลดลง จะทำให้อัตรากำไรสุทธิโดยรวมของภาคธุรกิจของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.02% เมื่อเทียบกับปี 2566

โดยอัตรากำไรสุทธิของธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.11%-0.50% หากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลง 1% 

อย่างไรก็ตามคาดว่าการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในรูปแบบใหม่รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าที่อยู่ในช่วงขาลง จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโดยรวม ในแง่ของการประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า ทั้งนี้การจัดสรรก๊าซธรรมชาติ ในรูปแบบนี้จะส่งผลกระทบ ต่อผลประกอบการของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์