ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 “องค์การคลังสินค้า” หรือ อคส.ขาดผู้บริหารมืออาชีพ เพราะผู้อำนวยการคนล่าสุด “นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต” ลาออกจากตำแหน่งแล้ว
หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) อคส.ทยอยลาออกตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 และล่าสุดเหลือเพียงกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เท่านั้น
สาเหตุการลาออกเพื่อหลีกทางให้สรรหาบุคคลใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน ตามธรรมเนียมปฏิบัติหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล เพราะเป็นพรรคการเมืองคนละขั้วกับรัฐบาลก่อน หากยังอยู่ในตำแหน่งต่อ การทำงานขับเคลื่อนองค์กรอาจยากลำบาก เพราะนโยบายทำงานเปลี่ยนไป และฝ่ายการเมืองที่เข้ามาใหม่ อาจไม่ไว้วางใจได้
ทั้งนี้ ตามกระบวนการแต่งตั้งบอร์ด อคส. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์นั้น เริ่มจากประกาศสรรหากรรมการเป็นการทั่วไป เมื่อได้รายชื่อผู้สมัครแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะนำรายชื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
จากนั้น สคร.จะรวบรวมรายชื่อส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณา และเมื่อได้ผู้ที่จะเป็นบอร์ดแล้ว คณะกรรมการจะเสนอชื่อให้คณะกรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ คนร.จะส่งรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ส่วนผู้อำนวยการนั้น หลังจากได้บอร์ด อคส.แล้ว บอร์ด อคส. จะตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ เพื่อกำหนดคุณสมบัติ และกรอบเวลาการสรรหา จากนั้นจะออกประกาศสรรหา กำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อได้ผู้ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว จะเสนอรายชื่อให้บอร์ด อคส.พิจารณา เมื่อได้ตัวจริงแล้ว จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนลงนามสัญญาจ้างต่อไป
นับจากนี้ ต้องจับตาว่าใคร?? จะมานั่งคุม อคส. องค์กรที่ดูเหมือนว่า ปัจจุบันไร้ผลประโยชน์ใดๆแล้ว (ผิดจากสมัยก่อน ที่เป็นผู้ดูแลโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร และสต๊อกสินค้าเกษตรจากโครงการรับจำนำทั้งหมด เสมือนเป็น “ขุมทรัพย์” มหาศาล ที่ใครๆจ้องกันตาเป็นมัน!!)
แต่ที่จริง ผลประโยชน์ของ อคส.ปัจจุบันอยู่ที่การเป็นองค์กรที่ “กุมข้อมูล” และ “ชี้เป็นชี้ตาย-ชี้ถูกชี้ผิด” ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลก่อนๆ
เพราะที่ผ่านมา รวมถึงยุคของ “นายเกรียงศักดิ์” อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำผิด ผู้กระทำทุจริตในโครงการจำนำหลายพันคดี ซึ่งมีทั้งที่รู้ผลแพ้-ชนะแล้ว และกำลังอุทธรณ์ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
อีกทั้ง อคส.ยังมี “หลักประกันสัญญา” ที่ผู้ประกอบการ เช่น โรงสี คลังสินค้า ลานมัน ฯลฯ ที่เข้าร่วมโครงการจำนำ นำมาวางค้ำประกันมูลค่าหลายพันล้านบาทอยู่ในมือ ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้ อคส. “คืนค้ำประกัน” ให้ผู้ประกอบการ แม้หลายรายยังมีคดีกับ อคส. และ อคส.ยังทำ “โครงการใหม่ๆ” หาประโยชน์ได้อีก
อย่างไรก็ตาม “นายเกรียงศักดิ์” เปิดใจก่อนอำลาเก้าอี้ว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา อคส.แทบไม่ได้ทำตามพันธกิจทุกข้อ ที่กำหนดในมาตรา 6 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 เลย เช่น การเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์สินค้าเกษตร กระจายสินค้าอุปโภคบริโภค ศูนย์กระจายสินค้า ฯลฯ
เพราะพึ่งพาแต่โครงการรัฐมาโดยตลอด ทำให้ อคส.สูญเสียความได้เปรียบทางการค้าให้กับเอกชน และไม่ได้เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบดังกล่าวเลย!!
นอกจากนี้ การบรรจุพนักงานยังไร้ทิศทาง มีมากเกินจำเป็น ไม่สร้างบุคลากรรองรับโครงสร้างองค์กร ส่งผลให้ขาดแคลนผู้บริหารตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนัก (ระดับ 9) จนถึงรองผู้อำนวยการ (ระดับ 11) ไม่ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับการค้าในปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนทั้งจากกลุ่มบุคคลในและนอกองค์กรจำนวนมาก มีคดีความกว่า 1,660 คดี และบังคับคดีอีกร่วม 200 คดี ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาทำงาน
อีกทั้งยังพบเหตุพิรุธสงสัยเป็นการกระทำความผิดต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กว่า 10 เรื่อง ยังไม่รวมพบทุจริตจัดซื้อถุงมือยางเทียมกว่า 125,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายให้ อคส.กว่า 2,000 ล้านบาท
“หนักใจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานตามที่ผมได้วางไว้ในช่วงดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิง++, ตั้งคลังสินค้าในจีน เมียนมา, ร่วมมือกับเอกชนทำสารสกัดจากกระท่อม, บุกเบิกตลาดใหม่ด้วยนวัตกรรม ฯลฯ ให้สัมฤทธิ ผล เพราะการรับและพัฒนาบุคลากรไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ อีกทั้งการประชุมบอร์ดแต่ละครั้ง ใช้เวลากว่าครึ่งพิจารณาเลิกจ้างผู้อำนวยการ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า อคส.มีความยุ่งเหยิงมากเพียงใด”
“นายเกรียงศักดิ์” ย้ำว่า การบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ แต่หากทำแล้วมีการโกง ต้องเสียเวลาต่อสู้คดี บังคับคดี ฟ้องล้มละลายนานร่วม 30 ปี เกิดภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ยังไม่นับรวมความเสียหายของรัฐจากการทุจริต
“ถ้าไทยยังคงแข่งขันด้านราคากับสินค้าชนิดเดียวกันจากคู่แข่ง เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว ทั้งที่ค่าแรงสูงกว่า ต้นทุนการเพาะปลูก สูงกว่า นโยบายประชานิยมก็จะคงอยู่ตลอดไป และหากมีการทุจริต ก็จะสร้างความเสียหายให้กับรัฐตลอดไปเช่นกัน”.
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม