“ภูมิธรรม เวชยชัย” ถกมหามิตรร้องต่อจีเอสพี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ถกมหามิตรร้องต่อจีเอสพี

Date Time: 14 มี.ค. 2567 07:10 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทางการค้า โดยได้เน้นย้ำถึงการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญการขับเคลื่อนเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และผลักดันการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่สหรัฐฯให้กับประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย รวมถึงการปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

สำหรับการต่ออายุโครงการจีเอสพีนั้น สหรัฐฯรับจะเร่งผลักดันให้ต่ออายุโครงการเร็วที่สุด หลังจากโครงการหมดอายุมาตั้งแต่ปี 63 เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งไทยได้แสดงให้สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในด้านต่างๆ รวมถึงการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้สามารถปรับสถานะของไทยออกจากบัญชี WL ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป ส่วนเรื่อง IPEF นั้น ไทยยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าที่ดี โดยสหรัฐฯและประเทศหุ้นส่วนในการเจรจาได้ร่วมกันเจรจาเพื่อหาข้อสรุปความตกลงในเสาที่ 1 เรื่องการค้า จากทั้งหมด 4 เสา

“การหารือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยแก่สหรัฐฯ เช่น นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การสร้างดุลยภาพของผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต การส่งเสริมธุรกิจรายย่อย การผลักดันการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (เอฟทีเอ)”

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล, เอไอ, อิเล็กทรอนิกส์, เซมิคอนดักเตอร์, รถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานสะอาด, การบิน, ยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งสหรัฐฯก็พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐฯให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ