ลุ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือน พ.ค.-ส.ค. รัฐมีแค่ 2 ทางเลือกปรับขึ้นหรือคงราคาเดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือน พ.ค.-ส.ค. รัฐมีแค่ 2 ทางเลือกปรับขึ้นหรือคงราคาเดิม

Date Time: 9 มี.ค. 2567 05:45 น.

Summary

  • อากาศร้อนจัด! คนไทยใช้ไฟสูงสุดอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากปีนี้ฤดูร้อนมาเร็ว เตรียมรับมืออุณหภูมิเฉลี่ย 45 องศา “พลังงาน” กำชับหน่วยงานดูแลระบบผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ มิให้เกิดไฟฟ้าดับ ขณะที่ กกพ. เปิดรับฟังความเห็นค่าไฟเดือน พ.ค.–ส.ค. กาง 3 แนวทาง ค่าไฟมีแต่ขึ้น สูงสุด 5.43 บาท ต่ำสุดคงเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ณ เวลา 19.47 น.จำนวน 32,704 เมกะวัตต์ เนื่องจากช่วงฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือว่าพีกปีนี้ค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกิดพีกเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

“ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบและดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องไม่ให้กระทบต่อประชาชนและธุรกิจ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.67 ใน 3 กรณีผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค.นี้ เพื่อนำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.พิจารณาเป็นข้อสรุปก่อนที่จะประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

สำหรับแนวทางการคำนวณค่าเอฟที 3 กรณี ประกอบด้วย 1.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดให้ กฟผ. ในงวดเดียวแบ่งเป็น 99,689 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 146.03 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วยและค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 19.21 สต.ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สต.ต่อหน่วย สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.67 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เดือน พ.ค.-ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย

2.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 4 งวด แบ่งเป็นเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 99,689 ล้านบาท งวดละ 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สต.ต่อหน่วย และค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 19.21 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สต.ต่อหน่วยเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เพิ่มขึ้น 16 สต.ต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย

3.ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ โดยแบ่งการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นงวดละ 14,000 ล้านบาท คิดเป็น 20.51 สต.ต่อหน่วย และค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. จำนวน 19.21 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงอยู่ในอัตราปัจจุบัน 4.1805 บาทต่อหน่วย

“ทั้ง 3 กรณียังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากนโยบายให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเรียกเก็บราคาค่าก๊าซธรรมชาติเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 คงที่ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นจริงและราคาที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เฉพาะส่วนของการผลิตไฟฟ้า เพื่อขาย เข้าระบบเป็นเงิน 12,076 ล้านบาท และคงค้างที่ กฟผ.วงเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค-ส.ค. ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการราคาเฉลี่ยก๊าซทุกแหล่ง (Pool Gas) ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.นี้ แต่ประมาณการปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทย เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมา ยังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อเสริมปริมาณก๊าซที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้สำนักงาน กกพ.จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดีเพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจีลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ในระบบไฟฟ้า และยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ