นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ.67 ว่า ดัชนีทุกรายการเพิ่มขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ.67 อยู่ที่ 63.8 เพิ่มจาก 62.9 ในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และสูงสุดในรอบ 48 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 46.9 เพิ่มจาก 46.2 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 71.9 เพิ่มจาก 70.9
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 57.7 เพิ่มจาก 56.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจเกี่ยวกับโอกาสในการทำงานอยู่ที่ 60.4 เพิ่มจาก 59.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 73.2 เพิ่มจาก 72.2 สาเหตุที่ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาจากผู้บริโภคเริ่มเชื่อมั่นหลังจากจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งลดค่าไฟฟ้า และน้ำมัน, มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น Easy E-Receipt ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับสูง, การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นแต่น่าสังเกตว่าดัชนีเพิ่มไม่สูงนัก เพียง 0.1-0.2% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอยู่ในภาวะนิ่งและทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เพราะประชาชนยังรอความชัดเจนของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ที่คาดเริ่มได้เดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ และการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ และกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลลบต่อส่งออกไทย และกำลังซื้อในอนาคต
ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ หน่วยงานรัฐ ทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเพียง 2.7-2.8% ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นภาคประชาชนและธุรกิจหดหายลง รวมทั้งยังไม่มีงบประมาณแผ่นดินออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งๆที่การท่องเที่ยวและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวแล้ว บวกกับ ธปท.พูดว่าเศรษฐกิจโตช้าเป็นปัญหา โครงสร้างพื้นฐาน แสดงว่า การเยียวยาเศรษฐกิจที่ไม่ง่ายในระยะสั้น การฟื้นตัวในอนาคตจึงไม่สดใส ทำให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ได้ทรุดตัวลง แต่นิ่งอยู่กับที่ เพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“ตอนนี้ มีภาคส่งออกที่กลับมาเป็นบวกและภาคท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยต่อเนื่อง รวมถึงราคาพืชเกษตรหลักยังดี จึงเป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ แต่ผู้บริโภคก็ยังกังวลปัญหาต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตยังสูง หนี้สินครัวเรือนสูง ความวิตกต่อปัญหาฝุ่นละอองและภัยแล้ง ที่มีผลต่อการเดินทางหรือท่องเที่ยว อัตราการจ้างงานใหม่ยังไม่สูงขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งรับมือ”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้จะโตราว 2% ส่วนไตรมาส 2 นโยบายอิกไนท์ ไทยแลนด์ของนายกรัฐมนตรี จะจุดประกาย และพลิกฟื้นให้ขยายตัวได้ 2.5-3% โดยเศรษฐกิจไทยจะถูกจุดติดตั้งแต่เดือน เม.ย.67 เป็นต้นไป หลังจากงานมหาสงกรานต์ 21 วัน การท่องเที่ยวน่าจะคึกคักขึ้น ซึ่งปกติแล้วจะประเมินเงินสะพัดช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 130,000-140,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ยังไม่ได้ประเมิน แต่อาจเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,000-10,000 ล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของคนไทย 5,000-10,000 ล้านบาท และการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงสงกรานต์ ราว 1-1.5 ล้านคน อีก 42,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณแผ่นดิน ที่น่าจะเริ่มใช้ได้เดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้เดือน เม.ย.-พ.ค.67 เศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หอการค้ายังคงเป้าประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3.2% แต่จะปรับประมาณใหม่ในเร็วๆนี้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่