“สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ” ยังทะลักเข้าไทย 22 อุตสาหกรรม น่วม! เจอสารตกค้าง ผัก-ผลไม้ นำเข้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ” ยังทะลักเข้าไทย 22 อุตสาหกรรม น่วม! เจอสารตกค้าง ผัก-ผลไม้ นำเข้า

Date Time: 6 มี.ค. 2567 13:39 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • กกร.เผย “สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ” ยังทะลักเข้าไทย ป่วน SME ราว 22 อุตสาหกรรม กระทบหนัก ขณะ ม.ค.เดือนเดียว พบมีผัก-ผลไม้นำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 8.45% มูลค่าพุ่ง 1.3 หมื่นล้าน บางส่วนเจอสารเคมี-สารตกค้าง จี้รัฐคุมกว่าเดิม หนุนตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางคำสั่งซื้อ-ทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีสินค้าออนไลน์ ราคาต่ำ 1,500 บาท เพราะเจอมีการใช้เทคนิคแบ่งบิลราคา

Latest


ยังคงเป็นประเด็นร้อน ประเด็นใหญ่ ที่ต้องให้ความสำคัญ สำหรับปัญหา “สินค้าราคาถูก” แถมไม่มีมาตรฐาน ทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจาก กำลังพ่นพิษให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีรายงานว่า ขณะนี้มีมากถึง 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก หรือ SME กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาในประเทศได้ ความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็เป็นจุดที่น่าห่วงเช่นกัน จากการเลือกใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องสำอาง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าแฟชั่น และ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 

ผัก-ผลไม้ นำเข้าพุ่ง! บางส่วนเจอสารตกค้าง 

ล่าสุด “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่า ขณะนี้ กกร. มีความกังวล เพิ่มเติม ถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน “สินค้านำเข้า” หลายกลุ่มสินค้า 

โดยเฉพาะ ผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศไทย จากข้อมูลเดือนมกราคม พบมีการนำเข้าสินค้า ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,275.20 ล้านบาท ขยายตัวถึง 8.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน  

อีกทั้งบางส่วนได้รับรายงานว่า เจอสารเคมี-สารตกค้างในผักผลไม้ดังกล่าว ซึ่งการที่ผักและผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก็ส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในการรัดกุมตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผักและผลไม้ รวมทั้งเพิ่มกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าผักและผลไม้ที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ

"สินค้าราคาถูกทะลักไทย" ปัญหาใหญ่ เกินจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 


ทั้งนี้ ประธาน กกร. ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าด้อยคุณภาพ มีต้นทางมาจากหลายประเทศ ไม่ใช่แค่สินค้าจากจีน อย่างที่เคยระบุไปว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการมากถึง 22 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ ด้วยผลจากการที่ไทยเปิด “การค้าเสรี” ทำให้เกิดปัญหามาจาก 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 

  1. การเติบโตของตลาดค้าออนไลน์ ซึ่งหากราคาสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาทต่อบิล จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่จากสถานการณ์จริง พบว่าผู้นำเข้ามีการใช้เทคนิคแบ่งบิลสินค้า ทำให้ไม่ต้องสำแดง ไม่ถูกตรวจสอบ กระทบกับ SME ไทยอย่างหนัก 
  2. สินค้านำเข้าถูกกฎหมาย แต่มีการดัมพ์ราคา แบบไม่มีการตรวจสอบติดตาม รัฐใช้มาตรการตอบโต้ไม่ทันการณ์ 
  3. การสำแดงเท็จ คล้ายกรณี “หมูเถื่อน” ประเภทสินค้าที่แจ้งนำเข้า กับ สินค้าที่นำเข้ามา ไม่ตรงกัน รัฐตรวจสอบไม่ทั่วถึง จากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด 

“ชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะนายกฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูจริงจังกับเรื่องนี้ เริ่มมีการเข้มงวด ตรวจตรามากขึ้น แต่ด้วยขนาดของปัญหา กับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สอดคล้องกัน และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเป็นหลัก รอของเข้ามาแล้วถึงตรวจสอบ ในนามของเอกชน อยากเห็นกระบวนการรัดกุมตั้งแต่การสั่งนำเข้า อีกทั้ง เมื่อเจอการสำแดงเท็จ หนีภาษี ต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจัง อย่างทั่วถึง เพราะขณะนี้ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ปัญหายังคงเกิดมากขึ้น"

ย้อนไปก่อนหน้า ส.อ.ท. มีการเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้าราคาถูกและไม่มีมาตรฐาน ในแนวทางต่างๆ เช่น 

  • เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีมาตรฐานและสําแดงเท็จ ที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดทั้ง มอก. และ อย. 
  • ทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ไม่เกิน 1,500 บาท และออกมาตรการป้องกันการสําแดงราคาเท็จ
  • ทบทวนเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone Warehouse) ในกรณีขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์