เช็กลิสต์ความเชื่อผิดๆ บ่อเกิด “หนี้สิน” ตามรอยอินฟลูฯ อวดหรู-อยู่แพง-ติดนิสัยชอบเสี่ยงดวง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เช็กลิสต์ความเชื่อผิดๆ บ่อเกิด “หนี้สิน” ตามรอยอินฟลูฯ อวดหรู-อยู่แพง-ติดนิสัยชอบเสี่ยงดวง

Date Time: 5 มี.ค. 2567 10:21 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ความรู้การเงินไม่ต้องมี ใช้เงินเป็นอยู่แล้ว, ชอบเสี่ยงดวง หวังรวยทางลัด, เดินตามรอยอินฟลูฯ อวดหรู-อยู่แพง หลุมดำที่ทำให้คนไทยบางคน ไม่เคยหลุดจากวงจรการเป็น “หนี้” เช็กลิสต์พฤติกรรมและความเชื่อผิดๆ ทางการเงิน ที่ต้องแก้ไขด่วนๆ

Latest


กลายเป็นประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจไทยที่น่าขบคิด หลังวานนี้ สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2566 พบ 1 ในข้อน่ากังวล และแนะให้รัฐออกกฎมาควบคุมดูแล ก็คือการนำเสนอคอนเทนต์ของเหล่าคนดังในโลกออนไลน์ ที่ถูกเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ ที่เน้นเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะอวดความร่ำรวย และการใช้ชีวิตแบบกินหรู อยู่สบายเกินจริง 

Content “อวดรวย” จูงใจก่อหนี้ ตามรอยอินฟลูฯ

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการอวดสินค้าแบรนด์เนม การบริการที่ประทับใจ และไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน ตามเทรนด์การชื่นชอบของกลุ่มคน GEN Z ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างค่านิยมที่ผิดๆ ต่อสังคม จากพฤติกรรมการอวดที่เรียกว่า “Bragger Marketing” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น และอาจส่งผลให้มีการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว

จากข้อมูลข้างต้น นี่เป็นเพียง 1 ในมูลเหตุสำคัญของปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” ที่ต้องเฝ้าติดตามบนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ที่สภาพัฒน์ฯ ก็เผยว่า ยังอยู่ในระดับสูง 90.9% ของจีดีพี และพบว่าคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น จากสถิติการยึดรถยนต์ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือน

เจาะสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ “คนไทย” กลุ่มใหญ่ ยังวนเวียนอยู่กับการเป็น “หนี้” นอกจากสภาพทางเศรษฐกิจไม่เอื้อแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โอกาสทางการศึกษา ที่มีผลต่อการเข้าถึงแหล่งงาน และรายได้ที่สูงแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง? 

ข้อมูลเผยแพร่โดย คลินิกแก้หนี้ by SAM (บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท) ระบุไว้ว่า ปัจจุบันคนไทยยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการเงินอีกหลายอย่าง จนทำให้บางคน “ชีวิตพัง” ไม่หลุดพ้นจากหนี้สิน หรือเป็นหนี้เพิ่มตามอายุ ตามความเชื่อผิดๆ เช่น 

ของมันต้องมี Sale ทั้งที ไม่ซื้อถือว่าผิด

  • บางคนเห็นป้าย Sale แล้วทนไม่ไหว แต่รู้หรือไม่? พฤติกรรมของการทนของเซลส์ไม่ได้นั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะฉุดเงินในกระเป๋าของเรา ทำให้ไม่มีเงินเก็บ ยิ่งไปกว่านั้น หากใช้บัตรเครดิตและใช้หลายใบพร้อมๆ กัน อาจมารู้ตัวอีกที ก็ตอนที่ไม่สามารถจ่ายขั้นต่ำได้แล้ว

ความรู้การเงินไม่ต้องมี ใช้เงินเป็นอยู่แล้ว

  • นับว่าเป็นพฤติกรรมความเชื่อที่น่ากลัวมาก แล้วจะทำให้การเงินของเราพังได้ แม้หลายคนคิดว่าตัวเองใช้เงินเป็น มีความรู้ทางด้านการเงินมาแล้วบ้างก็ตาม แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ เช่น บางคนคิดว่าการจ่ายหนี้บัตรคืนขั้นต่ำของยอดหนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องแย่ๆ ทางการเงิน เพราะเพื่อนเราหลายคนที่ยังจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตอยู่ ก็ยังเห็นว่าสามารถที่จะกู้สินเชื่อบ้านได้ ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไร และยังคงคิดว่าธนาคารเห็นว่าเรามีสภาพคล่องที่ดี เพราะเราสามารถหมุนบัตรหลายใบ แต่ความจริงคือการขาดสภาพคล่องมากกว่า และไม่นานจะถึงทางตันจนหมุนไม่ออก ดังนั้นการเรียนรู้ทางการเงินไว้บ้าง จะเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยให้เราไม่เป็นหนี้เกินตัว

เล่นพนัน หวังรวยทางลัด

  • “เมื่อฝันคือเทพให้โชค” หากมีความคิดเช่นนี้บ่อยๆ และทุกงวด ทางการแพทย์เรียกว่าโรคติดการพนัน และนั่นอาจทำให้ชีวิตล่มจมได้ยิ่งกว่าไฟไหม้บ้านเสียอีก ลองคิดดู มีคนเล่นการพนันคนไหนบ้างที่ไม่เคยเป็นหนี้ 

หาทางออกลดหนี้แบบผิดๆ พึงรู้ไว้ การลงทุนมีความเสี่ยง 

  • SAM ระบุว่า การที่เราเป็นหนี้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ธนาคาร หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ แถมหนี้ยังพอกขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้บางคนพยายามหาทางออกไปเรื่อยๆ บางคนก็เป็นหนี้ซ้ำซ้อน ไปกู้เงินมาเพื่อโปะหนี้เก่าก็มี บางคนก็หันมาลงทุน เพราะเชื่อว่าการลงทุนจะช่วยให้มีความมั่งคั่งมากขึ้น คิดว่าเป็นการหาผลตอบแทนมาเคลียร์หนี้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือหากไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในการเสี่ยงต่างๆ และผลตอบแทนอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เกิดเหตุลงทุนผิดพลาดมากๆ ไม่ใช่แค่ขาดทุน แต่อาจทำให้เราเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก 

สรุปแล้ว สำหรับคนที่กำลังหาทางออกเรื่องการเป็นหนี้ นอกจากความรู้ทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีติดตัวแล้ว อาจต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ที่ไม่เป็นผลดีเท่าไรกับเงินในกระเป๋า หากทำได้ อาจทำให้เราจัดการกับหนี้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง และมีความมั่นคงในชีวิตจนถึงวัยเกษียณก็เป็นได้ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ