ไทยขาดดุลการค้าพุ่ง! จีนนำโด่ง ปี 66 ขาดดุล 2 แสนล้าน ปี 67 แค่เดือน ม.ค.1 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยขาดดุลการค้าพุ่ง! จีนนำโด่ง ปี 66 ขาดดุล 2 แสนล้าน ปี 67 แค่เดือน ม.ค.1 แสนล้าน

Date Time: 4 มี.ค. 2567 05:31 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า การขาดดุลการค้ายังเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย โดยปี 66 ไทย ขาดดุลการค้า 5,192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 199,000 ล้านบาท เพราะมีมูลค่านำเข้าสูงกว่าส่งออก ซึ่งมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 289,754 ล้านเหรียญ แต่ส่งออก 284,561 ล้านเหรียญ โดยประเทศไทยที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดคือจีน ที่ไทยขาดดุลถึง 36,635 ล้านเหรียญหรือ 1.4 ล้านล้านบาท จากการที่ไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านเหรียญ แต่ส่งออกไปจีนได้เพียง 34,164 ล้านเหรียญ

ส่วนปี 67 เดือน ม.ค. ไทยยังคงขาดดุลการค้าต่อเนื่องสูงถึง 2,757 ล้านเหรียญ หรือ 106,107 ล้านบาท แม้มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 22,649 ล้านเหรียญ ขยายตัว 10% เทียบเดือน ม.ค.65 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน แต่การนำเข้ากลับมีมูลค่าสูงกว่าถึง 25,407 ล้านเหรียญ

สำหรับสถิติประเทศที่ไทยขาดดุลการค้าสูงสุด 10 อันดับแรกในเดือน ม.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 ยังคงเป็น จีน ขาดดุล 4,613 ล้านเหรียญ หรือ 177,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.66 ที่ไทยขาดดุล 4,119 ล้านเหรียญ รองลงมาเป็นไต้หวัน ขาดดุล 1,541 ล้านเหรียญ, สวิตเซอร์แลนด์ ขาดดุล 913 ล้านเหรียญ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขาดดุล 764 ล้านเหรียญ, เกาหลีใต้ ขาดดุล 372 ล้านเหรียญ, ซาอุดีอาระเบีย ขาดดุล 371 ล้านเหรียญฯ, กาตาร์ ขาดดุล 333 ล้านเหรียญ, ญี่ปุ่น ขาดดุล 303 ล้านเหรียญ, บราซิล ขาดดุล 290 ล้านเหรียญ และมาเลเซีย ขาดดุล 268 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆที่ไทยขาดดุลการค้าด้วย ล้วนเป็นการขาดดุลการค้าที่ลดลง ยกเว้นจีนที่มีการขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุการขาดดุลมาจากไทยต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่จำเป็นต้องใช้ในประเทศ และใช้ผลิตเพื่อส่งออกจำนวนมาก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าสูง โดยเดือน ม.ค.67 ไทยนำเข้าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ 4,268 ล้านเหรียญ, สินค้าทุน เช่น ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า 6,001 ล้านเหรียญ เพิ่ม 10.2%, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น พืช เคมีภัณฑ์ เหล็ก พลาสติก แร่ 10,543 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 10.4%, สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น นม ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ กาแฟ เสื้อผ้ารองเท้า ของใช้เบ็ดเตล็ด 3,168 ล้านเหรียญ, ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เช่น รถยนต์ รถบรรทุก 1,011 ล้านเหรียญ ลดลง 16.7%และอาวุธ ยุทธปัจจัย 415 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 30.4%.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ