เรื่องจีดีพีกำลังร้อนแรงไม่แพ้การเมือง เมื่อ คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีปี 2566 ขยายตัวตํ่าเพียง 1.9% และ คุณดนุชา ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจังคือ มาตรการด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามามี ส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการดอกเบี้ยต่างๆต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย หรือ ส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปที่ภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง เพราะตัวธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหามาก
เท่านั้นแหละ วิวาทะเศรษฐกิจเรื่องจีดีพี ก็ปะทุขึ้นมาทันที
นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลงมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดขอให้ลดลงมา 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% ก็ยังดี แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากแบงก์ชาติ นายกฯเศรษฐา ได้โพสต์ลงใน x ทันทีว่า “น่าจะพูดก่อนประชุม กนง.อาทิตย์ที่แล้วนะครับ (กนง.ประชุม 7 ก.พ.) ไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ของการพูดตอนนี้เพื่ออะไร หรือบอกผมว่าทำหน้าที่ของผมแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วควรทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้?” เมื่อนายกฯโพสต์แบบนี้เก้าอี้ของ คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ก็ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที
ก่อนหน้านี้ นายกฯเศรษฐา เพิ่งแต่งตั้ง คุณศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร เข้าไปเป็น ประธานบอร์ดสภาพัฒน์คนใหม่ และ คุณศุภวุฒิ ก็มีความเห็นเหมือนกับ นายกฯเศรษฐา ว่า แบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้แล้ว
นายกฯเศรษฐา ยังได้โพสต์ต่อใน x ช่วงคํ่าวันเดียวกันว่า “ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมวันนี้ บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะ critical stage ท่านเลขาเองก็เห็นด้วยกับการที่ควรต้องมีการลดดอกเบี้ย อยากขอวิงวอนให้ กนง. เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ยโดยไม่คอยให้ถึงการประชุม scheduled ไว้”
การประชุม กนง.นัดต่อไป กำหนดประชุมวันที่ 10 เมษายน นับจากวันนี้ไปก็อีกเดือนครึ่ง แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมา กนง.ยังไม่เคยนัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย หรือขึ้นดอกเบี้ยเลย
นอกจากลดดอกเบี้ย คุณดนุชา ยังเสนอให้แบงก์ชาติ ผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีหลายธุรกิจมีการใช้บัตรเครดิตทำธุรกิจในช่วงโควิดที่ผ่านมา มาตรการผ่อนคลายลดชำระวงเงินบัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือ 5% ของวงเงินที่ใช้จ่าย ซึ่งมาตรการนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 66 เดือนมกราคม 67 ก็ขยับการผ่อนชำระเพิ่มขึ้นเป็น 8% ของวงเงินที่ใช้จ่าย หากดูสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้และปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ ต้องการให้ปรับการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือ 5% ต่อไปอีกระยะ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น และไม่ไปเป็นเอ็นพีแอล
ประเด็นนี้ คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติแถลงว่า ธปท.จะไปหารือกับสภาพัฒน์ถึงข้อดีข้อเสียในการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว เพราะปัจจุบัน ธปท.ก็มีมาตรการเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์และ Non Bank 11 ราย ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหา โดยเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อผ่อนชำระและลดดอกเบี้ยให้ การลดอัตราการผ่อนชำระบัตรเครดิตดีระยะสั้น แต่ระยะยาวลูกหนี้อาจต้องผ่อนนานมากขึ้น
เมื่อเศรษฐกิจไทยมาถึงจุดนี้แล้ว ผมก็เห็นด้วยกับสภาพัฒน์ว่า นโยบายการเงินต้องออกมาช่วยแล้ว นโยบายการคลังรัฐบาลไปไม่รอดแล้ว ตัวเลขจีดีพีก็ฟ้อง ภาคเอกชนเติบโตดี แต่ภาครัฐบาลแย่ ดังนั้น แบงก์ชาติก็น่าจะลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยภาคเอกชนให้แข็งแรง มากขึ้น จะได้เป็นผู้นำการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนรัฐบาล แต่ นายกฯ เศรษฐา ก็ต้องกอดคอไปด้วยกัน ช่วยโละทิ้งกฎหมายราว 7,000 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของเอกชนและประชาชน ซึ่งจะช่วย ลดการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลได้มโหฬารอีกด้วย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม