“สุริยะ” สานฝัน “รถไฟไทย” โกอินเตอร์ จุดเปลี่ยนระบบรางสู่มาตรฐานที่ยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สุริยะ” สานฝัน “รถไฟไทย” โกอินเตอร์ จุดเปลี่ยนระบบรางสู่มาตรฐานที่ยั่งยืน

Date Time: 4 ม.ค. 2568 06:02 น.

Summary

  • “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ได้ขยายความและทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของแผนการพัฒนา “รฟท.” ที่กระทรวงคมนาคมทำไปแล้วและที่จะดำเนินการในปี 2568 นี้ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

Latest

สนค.แจงสี่เบี้ยเงินเฟ้อปี 68 เติบโต 0.8% ขึ้นค่าแรงไม่มีผลกระทบ

จากที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคมโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้เดินหน้าผลักดัน นโยบายเรือธงของรัฐบาล “ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย” จนสำเร็จไปแล้วใน 2 สายทาง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ผลปรากฏว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจไว้ ประชาชนได้หันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากจำนวนอัตราผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในเดือนกันยายน 68 ประชาชนจะสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกสีทุกสายทางในราคา 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป้าหมายก็เพื่อให้ประชาชนมีค่าครองชีพในการเดินทางที่ถูกลง และสามารถเดินทางครอบคลุมทั่ว กทม.และปริมณฑล

แต่ก็มีคำถามตามมามากมายว่า ในเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับ พัฒนา การบริการคมนาคมขนส่งระบบรางในรถไฟฟ้าแล้ว ในส่วนของรถไฟไทยที่ให้บริการ โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น รัฐบาลโดย กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะดำเนินการยกระดับอย่างไรบ้าง เพราะเป็นที่รู้กันว่า ที่ผ่านมา รฟท.ไม่มีการสร้างขยายเส้นทาง และยกระดับการบริการมานานแล้ว

ซึ่งในเรื่องนี้ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ก็ได้มาขยายความและทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของแผนการพัฒนา “รฟท.” ที่กระทรวงคมนาคมทำไปแล้วและที่จะดำเนินการในปี 68 นี้ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

อัปเกรดรถร้อนชั้น 3 เป็นปรับอากาศ

โดยนายสุริยะได้ขยายความว่า ภายหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีต่างๆได้ก่อสร้างสำเร็จตามแบบแผนแล้วนั้น ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมก็มีแผนที่จะเดินหน้าพัฒนายกระดับมาตรฐาน “รถไฟไทย” เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางอย่างสะดวก สบาย ตลอดเส้นทาง เนื่องด้วยการเดินทางด้วยรถไฟมีราคาที่ถูกกว่าการขนส่งประเภทอื่นๆ และยังพบว่า ในปัจจุบันนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากยอดการใช้บริการทั้งจากรถไฟประเภทเชิงสังคมเพื่อสาธารณะ และรถไฟประเภทเชิงพาณิชย์ โดยพบว่าในปี 2567 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้นกว่า 30.3 ล้านคน, ในปี 2566 ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการรวม 27.79 ล้านคน และในปี 2565 มีผู้ใช้บริการรวม 17.48 ล้านคน

ซึ่งมีรถไฟที่วิ่งให้บริการประชาชนรวมทั้งสิ้น 220 ขบวน แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 74 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 14 ขบวน, อีสาน 20 ขบวน, สายใต้ 30 ขบวน, สายตะวันออก 2 ขบวน, ฟีดเดอร์นครปฐม 8 ขบวน ส่วนขบวนรถไฟที่ให้บริการเชิงสังคมมีขบวนเดินรถทั้งสิ้น 146 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 24 ขบวน, อีสาน 28 ขบวน, ใต้ 30 ขบวน, ตะวันออก 22 ขบวน, แม่กลอง 8 ขบวน, มหาชัย 34 ขบวน

ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนารถไฟ รวมถึงการยกระดับการบริการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการใช้บริการของประชาชน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายให้ รฟท.เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟไทยโดยเฉพาะการเพิ่มขบวนรถโดยสาร และการปรับปรุงขบวนรถโดยสารร้อน ชั้น 3 ให้เป็นรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศ

โดยการนำรถโดยสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำมาซ่อมปรับปรุงใหม่ ทั้งการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การออกแบบเบาะที่นั่งใหม่ให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น การปรับปรุงห้องสุขาให้เป็นระบบปิด การทาสีใหม่ และการนำรถโบกี้จ่ายไฟฟ้ากำลังปรับอากาศ (Power Car) มาใช้ เพื่อเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบต่างๆในตู้โดยสารทั้งหมด ถือเป็นการช่วยลดมลภาวะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยให้ รฟท.มีตู้โดยสารเพิ่มขึ้น สามารถทดแทนตู้โดยสารที่ขาดแคลนในระหว่างที่รอการจัดซื้อรถโดยสารใหม่อีกด้วย

เบื้องต้นคาดว่าช่วงไตรมาส 1/2568 จะเห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในช่วงไตรมาส 2/2568 จะได้เห็นรถไฟตัวอย่างที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นจะนำมาให้ประชาชนได้ใช้บริการในระดับต่อไป

ปี 68 ลุยสร้างรถไฟทางคู่ 6 สายทาง

นายสุริยะกล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นแล้ว ภายในเดือนมกราคม 2568 กระทรวงคมนาคมจะเสนอขอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,312 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.สายปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 81,143.24 ล้านบาท 2.สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095.36 ล้านบาท 3.สายชุมพร- สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422.53 ล้านบาท

4.สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงินลงทุน 66,270.51 ล้านบาท 5.สายชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772.90 ล้านบาท และ 6.สายเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงินลงทุน 68,222.14 ล้านบาท โดยจะนำเสนอ ครม.พร้อมกันทั้ง 6 เส้นทาง หากได้รับความเห็นชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็จะทยอยเปิดประกวดราคาทันที

ซึ่งมั่นใจว่าทั้ง 6 สายทางดังกล่าวจะเปิดประกวดราคาได้ครบทั้งหมดภายในปี 68 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 71 โดยภายหลังจากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เส้นทางทั้งหมดนั้นจะสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 6 เส้นทางแล้วนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทางด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ รถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม

ปั้นรถไฟแบรนด์ไทยโดยคนไทย

นายสุริยะยังได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มโครงข่ายและเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมถึงมีโครงการที่ก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย จึงทำให้มีความต้องการในการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนมาวิ่งบนทางคู่ รองรับขบวนรถไฟได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบรางก็ขาดบุคลากร ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการผลิตทั้งคน  รถ และอุปกรณ์

และเพื่อรองรับแผนแม่บทพัฒนาการเติบโตของระบบขนส่งมวลชนทางราง ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นแกนหลักในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตรถไฟมาตรฐานสากลจากต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ

ที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายเริ่มต้นภายในปี 2569 ซึ่งจะผลิตรถไฟต้นแบบ 1.หัวรถจักร 2.รถโบกี้โดยสาร 3.รถไฟดีเซลราง และ 4.รถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป เพื่อการส่งออกในอนาคต รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ (Supply Chain Conversion)

นอกจากนั้น สทร.ยังมุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตรพัฒนาบุคลากรระบบราง และการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนระบบราง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในอนาคตของประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าเรื่องบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาและป้อนเข้าสู่ระบบรางจะเห็นผลสำเร็จได้ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

“ยังร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า ขบวนรถ อุปกรณ์ อะไหล่รถไฟ รถไฟฟ้า ในยุโรป ในการแลกเปลี่ยนศึกษานวัตกรรมระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีบริษัทคนไทย หรือเอกชนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ และอะไหล่ ที่เกี่ยวเนื่องรถไฟ รถไฟฟ้าทุกชนิดในประเทศไทย เพื่อใช้ในประเทศ และส่งออก”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ