ออกบอนด์สกุลต่างประเทศแค่ศึกษา สบน.ร้อนชี้แจงรัฐก่อหนี้ใหม่เพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ออกบอนด์สกุลต่างประเทศแค่ศึกษา สบน.ร้อนชี้แจงรัฐก่อหนี้ใหม่เพิ่ม

Date Time: 21 ก.พ. 2567 09:30 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างการศึกษาการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยจะต้องศึกษาทั้งข้อดี ข้อเสีย ข้อกฎหมาย เพื่อความถูกต้องและตอบคำถามความคุ้มค่าได้ทุกประเด็น ในเบื้องต้นได้วางกรอบวงเงินไว้ที่ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“ข้อดีของการออกพันธบัตรต่างประเทศจะเป็นการสร้างดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคเอกชนไทย ช่วยขยายตลาด ไม่ต้องแย่งสภาพคล่องในประเทศ ส่วนข้อเสียคือมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งต้นทุนการกู้สูงกว่าในประเทศ เช่น ไทยมีต้นทุนกู้ที่ 2.5% แต่สหรัฐฯต้นทุนกู้อยู่ที่ 4.6% ฉะนั้นต้องศึกษาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ เพราะหากวัดจากความคุ้มค่าทางการเงิน ก็เห็นแล้วว่าเสี่ยงและขาดทุน เพราะดอกเบี้ยในประเทศถูกกว่าต่างประเทศ ขณะที่เงินที่ได้มาจะนำมาใช้ในธุรกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจ ESG เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะทำหรือไม่ วงเงินเท่าไร และสกุลเงินอะไร คาดว่าเดือน มี.ค.นี้ จะมีคำตอบชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

นางจินดารัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีนี้ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งก่อหนี้ใหม่ ชำระหนี้เดิม และทดแทนของเดิมที่หมดอายุ ซึ่งปีนี้คาดว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง สบน.จะบริหารหนี้อย่างรอบคอบเพื่อให้ต้นทุนต่ำลงจากปัจจุบันที่ 2.74% ขณะที่จะมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป วงเงิน 100,000 ล้านบาท และจะออกงวดแรก 40,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และสถาบันการเงินทั่วไปในช่วงเดือน มี.ค.67 และจะมีการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดดอกเบี้ยอีกครั้งวันที่ 22 ก.พ.นี้

“กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 560,276 ล้านบาท ไม่ได้เป็นการเตรียมเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต แต่เป็นการกู้ชดเชยขาดดุลตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 และแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การแชร์ข้อความในโซเชียลระบุว่า การโจมตี ค่าเงินบาทครั้งที่ 2 เริ่มแล้ว โดยการขายพันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้านเหรียญ และหลายบริษัทที่มีปัญหาหุ้นกู้ออกไประดมทุน สบน.ขอชี้แจงว่าเป็นเฟกนิวส์”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ