นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ทราบเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เพราะนายดนุชาได้มารายงานตนแล้วก่อนที่จะมีการแถลงข่าว ก็ให้เกียรติสภาพัฒน์เป็นผู้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยหลังตนได้โพสต์ x (ทวิตเตอร์) ไปเมื่อคืนนี้
“อย่างที่บอก ผมไม่เคยสั่งท่านเลขาฯ และท่านเลขาฯก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ผมไม่เคยสั่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องของความอิสระของหน่วยงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ผมไม่มีอำนาจในการไปสั่ง ผมอยากจะฝากข้อคิดว่าการมีอิสระ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องหรือความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนที่โพสต์ x อยากให้มีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่า มีข้อมูลใหม่จากสภาพัฒน์มาแล้ว หากรอการประชุมในเดือน เม.ย. คิดว่าอีกตั้ง 2 เดือน ก็อยากจะรบกวน อ้อนวอน วิงวอน จะใช้คำอะไรก็ตาม ลองพิจารณาดูอีกทีก็แล้วกัน”
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า กรณีออกมาเรียกร้อง ธปท.ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ค่อนข้างจะต่ำกว่าที่คาดไว้ และตัวเลขหนี้ที่ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน (SML) ที่กำลังกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น เลยคิดว่า น่าจะต้องคุยกับ ธปท.
ส่วนที่ก่อนหน้านี้ที่เคยได้คุยกับผู้ว่าการ ธปท.นั้น เป็นการคุยกันแต่ไม่ได้จริงจัง เพราะยังไม่มีตัวเลขในมือ ตัวเลขเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา ยังไม่ออก ตอนนั้นเรียนท่านไปว่าน่าจะลองพิจารณาดู “การออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ได้ถูกกดดันจากนายกฯ แต่เมื่อเห็นตัวเลขก็เลยคิดว่า อันนี้ก็น่าจะลองพิจารณาดูเรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งกับผู้ว่าการ ธปท. จริงๆ พูดกันตลอด เดี๋ยวจะมีการคุยกันว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องเข้าใจ ธปท.ด้วย ตัวผู้ว่าการ ธปท.เองก็มี กนง. ซึ่งมีกรรมการอีกหลายคนต้องอาศัยการพูดคุยใน กนง.ต้องอยู่ที่ตัว กนง.เป็นคนตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีนี้ กนง.จำเป็นต้องเรียกประชุมนัดพิเศษหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ แล้วแต่ กนง.จะเป็นผู้พิจารณา แต่อยากให้พิจารณาเรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ เรื่องดอกเบี้ยเรื่องเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย ก็น่าจะพิจารณาดูด้วยว่าจะสามารถทำอย่างไร เนื่องจากเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกรณีดังกล่าวไปยัง ธปท.ว่า จะมีการพิจารณาเพื่อจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินนัดพิเศษเพิ่มเติม ก่อนการประชุม กนง.นัดปกติ ซึ่งในครั้งต่อไปจะประชุมในวันที่ 10 เม.ย.ที่จะถึงนี้หรือไม่ หลังจากที่ได้ข้อมูลจริงในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 ว่าต่ำกว่าคาดหมาย ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบจาก ธปท.ว่าจะมีการจัดประชุม กนง.นัดพิเศษหรือไม่
โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ ธปท.ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน โดยอ้างอิงจากการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ ในปี 2543 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กนง.เคยมีการประชุมนัดพิเศษเพียง 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะเป็นการตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจทั้งสิ้น ประกอบด้วย การประชุม กนง.นัดพิเศษ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2545 กนง.นัดพิเศษ ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากผลกระทบจากการเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯและอิรัก
ขณะที่การประชุม กนง.นัดพิเศษ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2546 ซึ่ง กนง.นัดพิเศษ ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% หลังจากที่เศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และล่าสุด การประชุม กนง.นัดพิเศษ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง.นัดพิเศษ ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่