ครม.เปิด 8 ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. นายกฯ สั่งทีมงาน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ภายใน 30 วัน มีคำตอบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.เปิด 8 ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. นายกฯ สั่งทีมงาน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ภายใน 30 วัน มีคำตอบ

Date Time: 21 ก.พ. 2567 07:00 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ครม. เปิด 8 ข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ ให้เวลาทำงาน 30 วัน ก่อนตอบกลับ ป.ป.ช. ตามกฎหมายมีเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง

Latest


ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 32 ที่กำหนดว่าเมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดําเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป 


ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่า ครม.มีเวลา 90 วันในการตอบกลับไปยัง ป.ป.ช. โดยนายกรัฐมนตรีให้เวลาในการทำงาน 30 วัน


“หลังจาก ครม.รับทราบรายงานข้อเสนอของ ป.ป.ช. แล้ว คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาทำเสร็จภายใน 30 วัน และส่งให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้น่าจะทำงานคู่ขนานกันกับคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในการประชุมดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อสัปดาห์ก่อน” ณัฐฏ์จารี กล่าว


สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย


1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการเติมเงินฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเติมเงินฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกัน สำนักงาน กกต.ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้


3. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงินฯ ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลังและความคล่องตัว ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวังและพิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีค่าเพียงการกู้เงิน จึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ


4. การดำเนินโครงการเติมเงินฯ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย


5. ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินฯ อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินนโยบาย ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2533 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงินฯ สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง


6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการเติมเงินฯ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงินฯ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน


7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤติที่ ธปท. ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่าในช่วงเวลาที่ศึกษา อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภค ภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรพิจารณา กลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน


และ 8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบางและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติกู้เงิน และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่


ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์