ทำไมจีดีพีตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทำไมจีดีพีตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น?

Date Time: 21 ก.พ. 2567 06:20 น.

Summary

  • แม้เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจไทยเข้าเงื่อนไขวิกฤติ แปลไทยเป็นไทยก็คือเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ตัวเลขจีดีพีปี 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ แถลงออกมาเป็นทางการแล้วเมื่อเช้าวันจันทร์ คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 1.7% ตํ่ากว่าที่ตลาดคาด ทั้งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็กลับมาแล้ว การส่งออกนำเข้าก็ขยายตัว ส่งผลให้จีดีพีปี 2566 ขยายตัว 1.9% ตํ่ากว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% แต่ก็สูงกว่า 1.8% ที่กระทรวงการคลังคาดไว้ ส่วนจีดีพีปีนี้ 2567 สภาพัฒน์ลดเหลือ 2.7% จากเดิม 3.2%

คุณดนุชา กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจไทยเข้าเงื่อนไขวิกฤติ แปลไทยเป็นไทยก็คือเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ

สาเหตุที่จีดีพีไตรมาส 3 และ 4 ลดลงอย่างมากทำให้จีดีพีปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% จากคาดการณ์ 2.5% พลาดเป้าถึง 24% ถือว่าผิดพลาดสูงมาก สภาพัฒน์ ระบุว่า เกิดจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงอย่างมากทั้ง 2 ไตรมาส คือไตรมาส 3 ลดลงร้อยละ 5.0 ไตรมาส 4 ลดลงร้อยละ 3.0 จากการลดลงของค่าซื้อสินค้าและบริการร้อยละ 8.0 การจ่ายโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ 14.1 การเบิกจ่ายงบประมาณก็เบิกได้เพียง ร้อยละ 31.0 เป็นต้น

ดูจากตัวเลขที่ สภาพัฒน์ แถลงแล้ว ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 แทนที่รัฐบาลจะเป็นผู้นำการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สามารถเบิกได้ออกมาใช้จ่ายให้มากขึ้น ไม่ต้องรองบปี 2567 ผ่านสภา ก็จะช่วยให้จีดีพีการอุปโภคจากภาครัฐไม่ลดลงมากต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส 6 เดือน จนฉุดจีดีพีร่วงลงมาอยู่ที่ 1.9% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศและประชาชนเสียหายมากโดยไม่จำเป็น

จากภาครัฐไปดู ตัวเลขภาคเอกชน ในปี 2566 กันบ้าง

คุณดนุชา แถลงว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ขยายตัวสูงร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงร้อยละ 7.9 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงาน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.8 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวร้อยละ 35.4 และกลุ่มบริการทางการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 การส่งออกก็ขยายตัวร้อยละ 4.9 การนำเข้า ก็ ขยายตัวร้อยละ 4.0 ทุกอย่างดูดีไปหมด

แต่ คุณดนุชา ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า รู้สึกแปลกใจที่เอกชนชะลอการผลิต แต่นำสินค้าในสต๊อกออกจำหน่ายได้นานถึง 10 เดือน ผมฟังแล้วก็สงสัย มันเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรหาคำตอบให้ชัดเจนนะครับ

การท่องเที่ยวก็ขยายตัวดีมาก ข้อมูล สภาพัฒน์ ระบุว่า ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 28.15 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่า 1.892 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.0 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 69.22 สูงสุดในรอบ 4 ปี รายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศก็สูงถึง 2.35 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.4

ตัวเลขภาคเอกชนดีขึ้นหมดทุกตัว ยกเว้นภาคการผลิตที่ท่านเลขาฯยังสงสัย

ดังนั้น ปี 2567 แม้สภาพัฒน์จะคาดว่า จีดีพีจะขยายตัวได้เพียง 2.7% แต่ผมเชื่อว่าน่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้ เพราะ ปีนี้รัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายถึง 2 ปีซ้อน รวมเป็นเงินกว่า 7.08 ล้านล้านบาท จาก งบปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และ งบปี 2568 วงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท ใช้ได้ในเดือนตุลาคมนี้ มีเงินใช้มากมายขนาดนี้คงไม่มีเหตุผลอะไรมาอ้างว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติอีกนะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ