แบงก์ไทยกำไรฉ่ำ 2.5 แสนล้านบาท ธปท.ชี้ช่วยลูกหนี้มากกว่าหลายประเทศ ห่วงกลุ่มเปราะบางทำหนี้เสียพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ไทยกำไรฉ่ำ 2.5 แสนล้านบาท ธปท.ชี้ช่วยลูกหนี้มากกว่าหลายประเทศ ห่วงกลุ่มเปราะบางทำหนี้เสียพุ่ง

Date Time: 19 ก.พ. 2567 17:47 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ธนาคารพาณิชย์ไทย ปี 66 ฟาดกำไรฉ่ำ 2.5 แสนล้านบาท อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ภาพรวมสินเชื่อหดตัวเล็กน้อย หลังภาคธุรกิจเร่งจ่ายหนี้เพิ่มสภาพคล่อง ธปท.เผยไทยช่วยลูกหนี้มากกว่าหลายประเทศ ห่วงกลุ่มเปราะบางดันหนี้เสียเพิ่ม

Latest


ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2566 และ ปี 2566 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

โดยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4/2566 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน ในขณะที่ผลประกอบการทั้งปี 2566 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.8% เป็น 2.5 แสนล้านบาท จาก 2.3 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายกันสำรองจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น 8.4% เป็น 1.9 แสนล้านบาท จาก 1.8 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า 

ด้านภาพรวมสินเชื่อมีการหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และกระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้จากสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ ไตรมาส 4/2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ และการกลับมาชำระคืนหนี้ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต 

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 5.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิด NPL cliff โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการก่อหนี้ที่ชะลอลง ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทยอยปรับดีขึ้น ตามภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ และกลุ่มปิโตรเลียม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ปรับดีขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปยังคงต่ำกว่าคาด


สำหรับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ จากมาตรการ responsible lending พบว่า จำนวนลูกหนี้ภายใต้มาตรการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ SFIs และ non banks โดยในปี 2566 มีจำนวนบัญชีที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 6.37 ล้านบัญชี มียอดภาระหนี้รวม 3.52 ล้านล้านบาท 


ทั้งนี้เมื่อเทียบกับ 6 ประเทศ ธปท.กล่าวว่า ไทยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุดที่ระดับ 10% ในขณะที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อยู่ที่ระดับ 1%, จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย อยู่ที่ระดับช่วง 1%-5%.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์