เปิดพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมจ่ายเงิน แลกประสบการณ์แปลกใหม่ ดันธุรกิจด้านบริการมาแรง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมจ่ายเงิน แลกประสบการณ์แปลกใหม่ ดันธุรกิจด้านบริการมาแรง

Date Time: 16 ก.พ. 2567 14:42 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • สนค.เปิดโผ "ธุรกิจบริการ" มาแรง ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมจ่ายเงินหนีความวุ่นวาย แลกประสบการณ์ เผยแนวเสริมแกร่งธุรกิจรายย่อยไทย ให้อยู่รอดเท่าทันตลาด

Latest


ในยุคเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความต้องการสินค้ายังไม่ฟื้น เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ซ้ำเติมภาระหนี้ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ให้รุนแรงมากขึ้น


ทั้งนี้ธุรกิจรายย่อย เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถึง 35% ของ GDP และเป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญที่ครอบคลุม 71% ของการจ้างงานทั้งประเทศ 


ไม่เพียงแต่ปัจจัยความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เข้ามาดิสรัปต์การทำธุรกิจเท่านั้น แต่บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีอิทธิพล ต่อการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน จนแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนทำธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยให้เข้าใจและเห็นภาพเทรนด์ตลาด ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจรายย่อย ให้สามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์


สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เปิดเผย ข้อมูลแนวโน้มธุรกิจบริการกับผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการ สามารถปรับตัวให้เท่าทันพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้


ธุรกิจบริการมาแรง ตอบโจทย์คนหนีความวุ่นวาย หาประสบการณ์ใหม่


ปัจจุบันภาคบริการมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโลกมากกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมรวมกัน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 53% ในปี 2513 เป็น 67% ในปี 2564 และสร้างการจ้างงาน 50% ของการจ้างงานทั่วโลก ตลอดจนมีบทบาทสําคัญในการอํานวยความสะดวกทางการค้าในห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยเป็นตัวกลางในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ และสร้างมูลค่าประมาณ 3.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าสองเท่าของการส่งออกบริการ ในฐานะสินค้าขั้นสุดท้าย ภาคบริการจึงเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสําคัญต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการยุคใหม่


ทั้งนี้ผู้บริโภคยุคใหม่มีความสนใจในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดการกับปัญหาในชีวิตประจําวัน ทําให้ภาคบริการคอมพิวเตอร์ สารสนเทศและการสื่อสารเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2548-2565 ที่ 10%

อีกทั้งยังมีการใช้บริการความบันเทิงมากขึ้น เพื่อหลีกหนีจากความเคร่งเครียด และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ โดยบริการด้านวัฒนธรรม และนันทนาการของโลกเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2548-2565  


จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ มีความสําคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการในปัจจุบัน โดย สนค.ได้แบ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ตามช่วงวัยดังนี้


เปิดโผธุรกิจดาวรุ่ง จับตลาดคน Gen Z-Alpha


ผู้บริโภคเด็ก Gen ใหม่ ประกอบด้วย Gen Z (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2554) และ Gen Alpha (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2567) คือ Gen ของเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยทํางานไปจนถึงเด็กที่เกิดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มช่วงอายุ ที่มีสัดส่วน 33.8% ของจํานวนประชากรทั้งหมดในไทย จุดเด่นของบริโภคกลุ่มนี้คือมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสูง ทําให้มีช่องทางในการใช้บริการในด้านต่างๆ ได้มาก พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นช่องทางสําคัญสําหรับการค้าสินค้าและบริการกับผู้บริโภคในช่วงวัยนี้

นอกจากนี้ ผู้บริโภค Gen Z และ Gen Alpha ยังเปิดกว้างทางความคิดและให้คุณค่ากับธุรกิจที่มีจุดยืนสอดคล้องกับแนวคิดของตัวเอง เช่น มีความสนใจในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เน้นการใช้สินค้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียงแต่เน้นที่คุณค่าและความเป็นตัวตนที่หาไม่ได้ที่อื่น


ทั้งนี้ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค Gen นี้ คือ ธุรกิจบริการที่มีการส่งผ่านทางดิจิทัล (Digitally delivered services) ที่นับรวมธุรกิจบริการทั้งหมดที่ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การสตรีมเกมไปจนถึงการให้คําปรึกษาผ่านระบบทางไกล โดยในปี 2565 มีมูลค่า 3.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 54% ของการส่งออกบริการทั้งหมดของโลก อีกทั้งมีการขยายตัว 16% ในปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความจําเป็นต้องมีการทํางาน การเรียน และการรับความบันเทิงผ่านระบบทางไกล


ทําให้มีการส่งออกบริการผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าในปี 2565 มีการชะลอตัว แต่ก็ยังขยายตัวอยู่ที่ 3% ประกอบกับวิถีชีวิตและความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ ทําให้ธุรกิจบริการดังกล่าว ยังได้รับความนิยม


เปิดโผธุรกิจดาวรุ่ง จับตลาดสูงวัย-Gen X


ผู้บริโภค Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย ประกอบด้วย Baby Boomer (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489-2507) และ Gen X (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2523) คือ Gen ของวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มช่วงอายุ ที่มีสัดส่วน 41.3% ของจํานวนประชากรทั้งหมดในไทย 


โดย Baby Boomer เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีเวลาว่างมากขึ้น จึงชอบทํากิจกรรม และมีกําลังในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยใช้  Facebook  เป็นโซเชียลมีเดียหลักในการรับรู้ข่าวสารใหม่ๆ จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการทําการตลาดได้ 

ในขณะที่ Gen X เป็นช่วงวัยกลางคนที่ต้องมีการวางแผนเกษียณหลังการทํางาน วางแผนเรื่องสุขภาพและประกันชีวิต ทำให้ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค Gen นี้ คือ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ


โดยธุรกิจบริการสุขภาพที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น การแพทย์ทางไกล (telemedicine) และธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล คิวบา อินเดีย จอร์แดน มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ UAE ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย 


นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยและบําเหน็จบํานาญก็เป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของ Gen นี้เช่นกัน โดยมีการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2548-2565

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ