นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องของพลังงานว่าขณะนี้หลายๆประเทศมีการพูดถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานที่ราคาถูกและสะอาดที่สุด ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้แต่ว่าหลายๆประเทศมีเทคโนโลยีอยู่ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งตรงนี้เราสามารถที่จะเรียนรู้และเก็บข้อมูลไว้ก่อน เพื่อที่ในอนาคตหากที่จะต้องตัดสินใจก็สามารถที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง รัฐบาลจะหาทางสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในไทย
“หากมองในระยะยาวเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพทางด้านการเงินที่มั่นคง พร้อมดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศและรัฐบาลยังให้ความสำคัญการส่งเสริมการใช้พลังงานในภาคการเกษตรภายในประเทศ ด้วยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการในการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำการทำนา เนื่องจากการเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญ”
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ขณะนี้มีการปรับปรุงเล็กน้อย ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ โดยแผนได้วางกรอบทางเลือกไว้ 7 แนวทาง เช่น ราคา ก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ทั้งไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม และ 1 ในนั้นมีทางเลือกคือเทคโนโลยีไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ปัจจุบันเป็นเจเนอเรชัน 4-5 เป็นลักษณะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่จะนำมารับฟังความเห็นด้วย
“เรื่องนี้ต้องปรึกษา รมว.พลังงาน ก่อนว่าจะเลือกประชาพิจารณ์เรื่องใด แต่ได้เตรียม SMR ซึ่งยอมรับว่าเราจะได้มาซึ่งค่าไฟฟ้าราคาถูก สะอาด เทคโนโลยีขณะนี้ปลอดภัยมากขึ้น แต่การยอมรับของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นกัน เพราะเขาเคยเห็นเหตุการณ์เชอเนอบิล ฟูกุชิมะ แต่กระทรวงยังมองเรื่องการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงก๊าซธรรมชาติแห่งเก่าๆ เพราะการบริหารค่าไฟฟ้าระยะยาว จะพยายามบริหารตลอดแผนให้ได้ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องยอมรับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตและการส่งออกที่ทั่วโลกกำลังมองหาพลังงานสะอาด”