ปตท.แนะแบ่งครึ่งกับเขมร นายกฯ เดินหน้าเจรจาขุมทรัพย์ 20 ล้านล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปตท.แนะแบ่งครึ่งกับเขมร นายกฯ เดินหน้าเจรจาขุมทรัพย์ 20 ล้านล้าน

Date Time: 15 ก.พ. 2567 08:35 น.

Summary

  • “เศรษฐา” ห่วงรัฐอุ้มค่าไฟนานจะเกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ยันต้องเร่งเดินหน้าเจรจาดึงขุมทรัพย์มูลค่า 20 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย–กัมพูชา ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ด้าน ปตท.เสนอแบ่งผลประโยชน์คนละครึ่งเหมือนกรณีมาเลเซีย น่าจะเป็นทางออกดีที่สุดขอร้องด้านการเมืองอย่ากล่าวหาว่าขายชาติ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า เรื่องค่าไฟยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยรัฐบาลนี้ก็ได้เจรจาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความพร้อม หรือด้านการหาแหล่งสำรอง โดยเรื่องราคาพลังงานเป็นเรื่องที่มีกลไกต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันหลายอย่าง และคงจะเมินเฉยต่อกลไกตลาดไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ประเมินค่าไม่ได้

“การทุบราคาพลังงานลงโดยไม่สนใจกลไกตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจขึ้น อาจจะได้ค่าไฟถูกไม่กี่วัน ก่อนจะต้องควักเอาของประชาชนมาจ่าย การลงทุน การส่งออก การจ้างงาน ผลทางเศรษฐกิจ อยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่มีกลไกสนับสนุนทางด้านภาษีที่ดีแล้ว หรือมีมาตรการต่างๆให้คนมาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุขแล้ว แต่ค่าพลังงานก็มีความสำคัญเช่นกัน”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของพลังงานถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนตั้งแต่ บริษัทต่างชาติที่ไปชักชวนให้มาลงทุน ตลอดจนภาคส่วนเกษตรกร ต้องการพลังงานสะอาดที่ราคาถูกทั้งสิ้น ประเทศไทยเราจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักคือ 1.แหล่งพลังงาน รัฐบาลต้องเร่งเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวเพิ่ม 2.ความพร้อม ซึ่งเรามีศักยภาพที่ได้เปรียบกว่าเพราะมีพื้นที่สำหรับการผลิต (Clean and Green Energy) แต่ต้องมีการอัปเกรดระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเสริมความพร้อมระยะยาวด้วย 3.ราคาพลังงาน ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ จะช่วยประชาชนและภาคเอกชนไปพร้อมกันผ่านกลไกตลาดที่ถูกต้อง

ส่วนการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นเรื่องที่สำคัญและหารือกับสมเด็จฯฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว และมีความเห็นที่ตรงกันว่าต้องเร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แม้ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเรื่องของเขตแดนก็ถึงเวลาที่ทั้งสองประเทศจะพูดคุยกันโดยเร็วเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

“เรื่องนี้หลายคนสนใจและบอกว่าเป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเล เป็นขุมทรัพย์ทางพลังงานซึ่งในวันนี้บางท่านบอกว่ามีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่อง handle with care ต้องจัดการอย่างระมัดระวัง มีเรื่องของราคาพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องทำให้ทันกับการใช้พลังงาน แม้จะมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ความจำเป็นในการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั้งสองประเทศก็ยังมีอยู่ เรื่องนี้จึงต้องมีการเดินหน้าเจรจาโดยเร็ว”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) ในมุมของ ปตท.ว่าอาจมีรูปแบบที่ให้มีการศึกษาเป็นตัวอย่างได้ เหมือนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-มาเลเซีย ซึ่งเรื่องการแบ่งดินแดนไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่ แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา แต่หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็จะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย หากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน

“รูปแบบที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้กัมพูชามาลงทุนกับเราได้ เพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของเขาไปก็ได้ ต้องยอมรับว่ารูปแบบทางด้านธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรงๆเลยว่าที่มีปัญหากัมพูชาไม่น่าจะมี มีแต่บ้านเรานี่แหละ ที่มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง เราน่าจะต้องลดๆในตรงนี้หน่อยเพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ และเราก็จะได้ไม่มีปัญหา”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ