ดัชนีความอยากซื้อบ้าน-รถพุ่ง หยุดสงกรานต์เพิ่มดันเงินหมุน 1-2 หมื่นล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดัชนีความอยากซื้อบ้าน-รถพุ่ง หยุดสงกรานต์เพิ่มดันเงินหมุน 1-2 หมื่นล้าน

Date Time: 14 ก.พ. 2567 09:22 น.

Summary

  • หยุดสงกรานต์เพิ่ม 1 วัน ดันเงินสะพัดเพิ่ม 1-2 หมื่นล้านบาท คาดเงินสะพัดสงกรานต์ปีนี้แตะ 1.5 แสนล้านบาท ผลสำรวจผู้บริโภคล่าสุดยังบ่งชี้ ดัชนีความอยากซื้อรถ ซื้อบ้าน อยากเที่ยวของคนไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 59 เดือน 64 เดือน และ 130 เดือนตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความสุขเดือน ม.ค.67 ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 59 เดือน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินเงินสะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังจากรัฐบาลได้ประกาศวันหยุดเพิ่มเติมอีก 1 วัน รวมเป็น 5 วัน ตั้งแต่ 12-16 เม.ย.67 คาดว่าจะมีเงินสะพัดเพิ่มเติมอีก 10,000-20,000 ล้านบาท จากปกติช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีเงินสะพัด 130,000-140,000 ล้านบาท รวมเป็น 150,000 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม และเชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์เต็มที่ หลังจากยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

เมื่อปลายปี 66 ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.67 คาดว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 80,000-90,000 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายของคนไทยจากช่วงตรุษจีน วาเลนไทน์ และมาฆบูชา ราว 60,000 ล้านบาท รวมกับเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้จ่ายในไทยอีกราว 20,000-30,000 ล้านบาท หากเดือน มี.ค.ยังมีตัวเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และเดือน เม.ย. เงินงบประมาณจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้น และราคาสินค้าเกษตรยังดีต่อเนื่อง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 67 ยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ผลสำรวจผู้บริโภคยังพบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันเริ่มฟื้นแล้ว แม้ยังไม่โดดเด่น แต่ทำให้คนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ปัจจุบัน อยู่ที่ 92.0 สูงสุดรอบ 59 เดือนนับจากเดือน มี.ค.62, ดัชนีความเหมาะสมซื้อบ้านหลังใหม่ อยู่ที่ 71.0 สูงสุดรอบ 64 เดือนนับตั้งแต่เดือน ต.ค.61, ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อยู่ที่ 109.4 สูงสุดรอบ 130 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.56 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของเอสเอ็มอี อยู่ที่ 59.0 สูงสุดรอบ 107 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.58

ขณะเดียวกัน ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 82.5 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดรอบ 59 เดือนนับจากเดือน มี.ค.62 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง อยู่ที่ 73.0 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดรอบ 56 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.62 เพราะการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น

“ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่โดดเด่น แต่คาดในอนาคตจะดีขึ้น เพราะมี 4 ประสานที่จะช่วยขับเคลื่อน ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ราคาสินค้าสำคัญทุกตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบราวเดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3-3.5% แต่ถ้ารัฐบาลผลักดันเงินดิจิทัลออกมาใช้ได้ ก็จะเติบโตใกล้เคียง 4%”

ด้านนายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 62.9 เพิ่มจาก 62.0 ในเดือน ธ.ค.66 สูงสุดรอบ 47 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.63 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม 56.9 เพิ่มจาก 56.0, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ 59.5 เพิ่มจาก 58.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 72.2 เพิ่มจาก 71.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 54.8 เพิ่มจาก 54.7 ในเดือน ธ.ค.66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

โดยสำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ดัชนี 2 รายการเพิ่มขึ้น คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 เช่น Easy E-Receipt ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น, มาตรการลดค่าไฟฟ้า ลดราคาเบนซิน และตรึงราคาดีเซล, มาตรการฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวบางประเทศ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ