สั่งแก้ มอก.ยกระดับสุราพื้นบ้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สั่งแก้ มอก.ยกระดับสุราพื้นบ้าน

Date Time: 13 ก.พ. 2567 08:42 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน และสุราแช่พื้นบ้าน เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยเกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชน

“ปัจจุบัน สมอ. มี มอก.สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน ที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และเมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรอง มผช. 66 รายทั่วประเทศ แต่มาตรฐานดังกล่าวประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันและสอดคล้องประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งมาตรฐาน มอก.สุรากลั่นและสุราแช่ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วย”

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน เช่น มาตรฐานสุรากลั่นชุมชน แก้ไขข้อกำหนดวัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย จากเดิม “ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร” แก้เป็น “ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร”, มาตรฐานไวน์สมุนไพร แก้ไขข้อกำหนดสารปนเปื้อนตะกั่วจากเดิม “ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร” เป็น “ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร”, มาตรฐานเมรัย แก้ไขข้อกำหนดสารเอทิลคาร์บาเมต (กรณีผสมสุรากลั่น) จากเดิม “ไม่เกิน 400 ไมโครกรัมต่อลิตร” เป็น “ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลิตร” เพราะหากมีมากเกินไปจะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ สมอ.ยังได้แก้ไขข้อกำหนดด้านอื่นๆด้วยเพื่อให้ประชาชนบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ