“การลดดอกเบี้ย” ของ ธปท.กลายเป็นประเด็นที่สังคม ให้การจับตามองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรวัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างอัตราเงินเฟ้อติดลบ 1.11% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ทำให้หลายๆ คน มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน เป็นการซ้ำเติมอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงหรือไม่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 ซึ่งเป็นการประชุม กนง.นัดแรกของปี ก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย หลังผลการประชุม พบว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าคาด ตามอุปสงค์ของโลกและเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นได้ช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยประเมินไว้
โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2566 ที่ลดลงส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5%-3.0%
การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตมากขึ้นในระยะข้างหน้า
ส่วนคณะกรรมการ 2 ท่าน ได้เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า กนง.ส่งสัญญาณถึงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ประเมินว่าจะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว และ กนง.จำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่างๆ ในระยะต่อไป ขณะที่มีความเสี่ยงที่อาจกดดัน ให้เงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตาม การปรับทิศทางนโยบาย การเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ นอกจากนี้ กนง.ยังสื่อสารว่าการลดดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ได้
ที่มา: Krungthai COMPASS
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาลกับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney