กนง.ระส่ำไม่เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 “เศรษฐา” ลั่น “ไม่เห็นด้วย” คงดอกเบี้ยต่อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กนง.ระส่ำไม่เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 “เศรษฐา” ลั่น “ไม่เห็นด้วย” คงดอกเบี้ยต่อ

Date Time: 8 ก.พ. 2567 08:08 น.

Summary

  • กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 และปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่คาดไว้เดิม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่มีจากปัญหาเชิงโครงสร้างส่งผลให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ แรงขับเคลื่อนหลักในขณะนี้จึงมาจากการบริโภคของคนไทยที่ยังดีขึ้นและแนวโน้มยังไปได้ดี

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

โดย กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 และปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่คาดไว้เดิม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่มีจากปัญหาเชิงโครงสร้างส่งผลให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ แรงขับเคลื่อนหลักในขณะนี้จึงมาจากการบริโภคของคนไทยที่ยังดีขึ้นและแนวโน้มยังไปได้ดี ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้คนไทยบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ช่วยได้แค่ทำให้สินค้าคงคลังที่มีอยู่มากลดลงเท่านั้น แต่หากตัดจำนวนสินค้าคงคลังออกไป จีดีพีจะโตได้ 11%

ส่วนเมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 67 เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสจะขยายตัว 2.5-3% (ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต) ขณะที่ปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนนั้น กนง.เห็นว่ามาจากผลของมาตรการรัฐตรึงราคาไฟฟ้า และพลังงาน และราคาอาหารสดที่ลดลง ในตะกร้าเงินเฟ้อยังพบว่ามีรายการสินค้า 75% ที่ราคาปรับขึ้น และมี 25% ที่ปรับลดลง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว การมีมาตรการรัฐก็ดีเพราะช่วยประชาชน เงินเฟ้อที่สูงต่างหากที่จะกระทบต่อค่าครองชีพ ธปท.จึงไม่ห่วงอัตราเงินเฟ้อต่ำ และเท่าที่พิจารณาในขณะนี้ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะยังไม่มีภาพการลดราคาแบบกว้างๆ และไม่ใช่การลดลงเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ถ้าคนไม่มีเงินจริง ต้องไม่ซื้ออะไรสักอย่าง ซื้อแต่สินค้าจำเป็นเท่านั้น และหากปรับลดผลของมาตรการรัฐออกไปเงินเฟ้อยังเป็นบวก

นายปิติ กล่าวต่อว่า กนง.อยากให้แน่ใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเป็นปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะมองในระยะต่อไปแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังสูงขึ้นได้ผลจากเอลนีโญ และฐานสูงที่กำลังจะหมดไป อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ติดตามลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ย โดยพบว่า 60% ของหนี้ครัวเรือน ยังได้รับดอกเบี้ยอัตราคงที่ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบดอกเบี้ย ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมาก คือลูกหนี้รายได้ต่ำที่กู้สินเชื่อบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง

“กนง.กำลังชั่งน้ำหนักว่าระหว่างปัจจัยระยะสั้นที่ดีขึ้น กับปัญหาเชิงโครงสร้าง จะกระทบกับศักยภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร ถ้าข้อมูลทั้งหมดแน่ใจได้ว่าทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตได้ต่ำลง ก็ต้องมองกันใหม่ว่า อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจอยู่ที่เท่าไร ดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้กรรมการ 2 ท่านต้องการให้ลดดอกเบี้ย เพราะมองว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยลดลง อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาโครงสร้างการใช้ดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ตัวที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กนง.ได้รับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาลขอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ได้รับความเห็นจากที่ต่างๆ เพราะทำให้ กนง.เห็นข้อมูลมากขึ้น พิจารณาดอกเบี้ยได้อย่างรอบด้าน ซึ่งเข้าใจว่าการลดดอกเบี้ยมีผลกระทบกว้าง อาจจะมีคนที่มีภาระดอกเบี้ยสูงและการที่รัฐบาลอยากให้ลดดอกเบี้ย กรรมการ 2ท่าน ซึ่งโหวตให้ลดดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นความหวังดี แต่เมื่อมีผลกระทบในวงกว้างก็ต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งการประเมินเศรษฐกิจในขณะนี้ หากลดดอกเบี้ยไปนิดหนึ่ง ในขณะที่การขยายตัวการบริโภคในประเทศดีต่อเนื่อง จะกลายเป็นเร่งเครื่องยนต์ที่ทำงานเต็มที่อยู่แล้ว และอาจจะทำงานเกินกำลังไปหรือไม่ แต่ตอนนี้ กนง.ไม่ได้ปักหมุดว่าจะต้องยืนแบบนี้ กนง.ครั้งหน้าก็สามารถปรับนโยบายการเงินได้ หากพบว่าเศรษฐกิจชะลอลงแรง

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวกรณีที่ กนง. มีมติคงดอกเบี้ยว่า ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องน้อมรับ เพราะโดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความเห็น และโน้มน้าวว่าความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อผลออกมาแบบนี้ก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับเพราะว่า กนง.มีความเป็นอิสระ เราคงไม่ก้าวก่าย แต่ก็อยากเห็นนโยบายการเงินการคลังเดินไปด้วยกัน และในตอนนี้เงินเฟ้อติดลบแล้ว ส่วนครั้งหน้าตนไม่ได้มีธง ถ้าตัวเลขบอกว่าไม่ต้องลดผมก็จะบอกว่าไม่ควรจะลด “การเห็นต่าง เห็นด้วย เห็นสมควร ในเรื่องต่างๆ หรือว่าต้องโน้มน้าว ผมก็จะทำต่อไป”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ