ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทย ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่กลับพบ อสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 10% ในแง่ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ขณะการโอนกรรมสิทธิ์บ้านทั่วประเทศสูงถึงมากกว่า 1 ล้านล้านบาท จนอาจสะท้อนได้ว่า “บ้าน” ยังเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นอยู่
ทั้งนี้ “แอล ดับเบิลยู เอส” บริษัทวิจัยอสังหาฯ ในเครือ LPN เผยข้อมูลว่า เมื่อปีที่แล้ว มีโครงการบ้าน และ โครงการคอนโดมิเนียม เปิดใหม่รวมกัน เฉพาะ ทำเลหลัก กทม.-ปริมณฑล ถึง 437 โครงการ คิดเป็นมูลค่า ทั้งสิ้น 544,265 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม จะด้วยผลของ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น จากราคาที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผนวกกับต้นทุน ราคาวัสดุก่อสร้าง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปีที่แล้ว ภาพรวม มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 24%
โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการปรับตัวสูงขึ้น 20% แม้จำนวนหน่วยปรับลดลง
ThairathMoney เจาะข้อมูลแค่ “ตลาดบ้านพรีเมียม” หรือ โครงการบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป พบปีที่แล้ว มีทั้งสิ้น 116 โครงการ (เพิ่มขึ้น 33%) จำนวน 9,138 หน่วย (เพิ่มขึ้น 24%) และคิดเป็นมูลค่า 196,033 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 36%)
โดยที่ระดับราคาขายเฉลี่ยของบ้านระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทอยู่ที่ 21.5 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 10.25% จากราคาเฉลี่ยที่ 19.5 ล้านบาทต่อหน่วย ในปี 2565 โดยที่มี 9 โครงการบ้านพักอาศัยที่เปิดตัวบ้านพักอาศัยที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและ ราคาเกินกว่า 10 ล้านบาทอยู่ในโครงการเดียวกัน ขณะ บริษัทเอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นอันดับ 1 ทั้งด้านจำนวน และ มาร์เก็ตแชร์ของตลาด
Top 3 บริษัทที่มีหน่วยเปิดตัวสะสมมากที่สุด
ส่วนประเด็นที่ต้องจับตากัน ก็คือ การเปิดตัวโครงการจำนวนมากในปี 2566 ทำให้มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยคงค้างในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล (Inventory) ณ สิ้นปี 2566 ประเภทบ้านพักอาศัยจำนวน 145,634 หน่วย เพิ่มขึ้น 12.6% ต้องใช้ระยะเวลาในการขายประมาณ 4-5 ปี ส่วนแนวโน้มราคาบ้านปีนี้ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับทำเล
ที่มา : แอล ดับเบิลยู เอส