ท่องเที่ยวไทย ฟีเวอร์! แซงหน้า 20 ประเทศยอดนิยม "ชาวจีน" แชมป์นักท่องเที่ยวเบอร์ 1 เดือน ม.ค.ปี67

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ท่องเที่ยวไทย ฟีเวอร์! แซงหน้า 20 ประเทศยอดนิยม "ชาวจีน" แชมป์นักท่องเที่ยวเบอร์ 1 เดือน ม.ค.ปี67

Date Time: 31 ม.ค. 2567 15:11 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ท่องเที่ยวไทย ฟีเวอร์! ยอดจองโรงแรม ปี 66 โตพุ่ง แซงหน้า 20 ประเทศยอดนิยม ขณะ เปิดศักราชปี 67 เดือน ม.ค. ต่างชาติเดินทางเข้าไทย สะสมแล้ว กว่า 2.7 ล้านคน "ชาวจีน" กลับมาเป็นแชมป์เบอร์ 1 ขณะ ททท.ลุยกลยุทธ์ เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริป ทำเป้ารายได้ 3 ล้านล้านบาท จับตา ซาอุฯ ตลาดมาแรง ใช้จ่ายต่อทริปเหยียบแสนบาท

Latest


นับว่าเป็นการออกตัวได้ดี สำหรับ “ภาคการท่องเที่ยวไทย” ภายใต้เป้าหมายใหญ่ ต้องฟื้น 100% ในแง่เม็ดเงินสะพัด 3 ล้านล้านบาท ใกล้กับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (ปี 2562) โดยประเทศไทย ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งปี 2567 ไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน ผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 

  • กระตุ้นความถี่ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางไปเที่ยวทั่วทุกภูมิภาคของไทยมากขึ้น (ทั้งเมืองหลัก/เมืองรอง)
  • เพิ่มจำนวนวันเข้าพักเฉลี่ยในประเทศไทย 
  • เพิ่มการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สูงขึ้น 


ซึ่งหากเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้ “เมืองไทย” กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคุณภาพครั้งแรก หลังวิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่อง แนวโน้มที่สดใส จากช่วงปีที่ผ่านมา ไทยเรา ครองแชมป์ เป็นประเทศที่ “ต่างชาติ” เข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดในอาเซียน กว่า 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 153%

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ตลอดช่วงเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 1-28 ม.ค.) ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศสะสมแล้ว 2,743,147 คน เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน และสร้างรายได้จากการใช้จ่ายแล้วประมาณ 132,587 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวก จากการออก “วีซ่าฟรี” ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน และคาซัคสถาน รวมการขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซียด้วย ส่งผลทำให้ ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีน กลับมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดท่องเที่ยวไทย อีกครั้ง 

5 อันดับ นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 

  • อันดับ 1 : จีน 444,702 คน
  • อันดับ 2 : มาเลเซีย 300,576 คน 
  • อันดับ 3 : เกาหลีใต้ 203,907 คน 
  • อันดับ 4 : รัสเซีย 197,656 คน
  • อันดับ 5 : อินเดีย 146,784 คน 

ขณะ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยแพร่ข้อมูลสำคัญ ว่าปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีการใช้จ่ายต่อหัว/ทริป ราว 52,000 บาท ซึ่งมีความต้องการ ให้ยอดใช้จ่ายในปีนี้ เพิ่มไปอยู่ที่ระดับ 60,000 บาท ขณะตลาดนักท่องเที่ยวที่มาแรง นอกจากจีน คือ ชาวซาอุดีอาระเบีย หลังจากไทยฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เข้ามาเติมเต็ม การท่องเที่ยวของไทยมากขึ้น

โดยมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่น่าสนใจ เฉลี่ยต่อทริปเกือบ 100,000 บาท/คน ซึ่งช่วงปี 2566 มีชาวซาอุฯ มาท่องเที่ยวในประเทศไทยรวม  180,000 คน และเข้าพักในโรงแรม ลักษณะระยะยาว ประมาณ 20 วัน ขณะปีนี้ ไทยตั้งเป้าเพิ่มจำนวน เป็น 300,000 คน

ด้าน SiteMinder’s Hotel Booking Trends แพลตฟอร์มระดับโลก ในธุรกิจโรงแรม เปิดเผยรายงานล่าสุด ที่บ่งชี้ถึงความร้อนแรง ในภาคท่องเที่ยวไทยว่า จากการรวบรวมข้อมูลการจองโรงแรมมากกว่า 115 ล้านครั้ง ในช่วงปี 2566 พบว่า ประเทศไทย มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก ที่มีสัดส่วนการเข้าพักของโรงแรม เพิ่มขึ้น 33% แต่ประเทศไทย เพิ่มขึ้น 35% ตามหลังเพียงอินโดนีเซีย (55%) และแอฟริกาใต้ (36%) เท่านั้น โดยอัตรารายวันเฉลี่ยของประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแรง โตขึ้นถึง 19% สูงกว่า 20 ประเทศยอดนิยมทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า การเดินทางระหว่างประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย 

"ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับการพักระยะยาว เนื่องจากพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 25% ได้ทำการจองที่พักในประเทศไทยมากกว่าสามวัน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม เช่นเดียวกันกับสเปน โปรตุเกส และเม็กซิโก"

เจาะมุมมอง ของ ttb analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี  ประเมินว่า แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยปีนี้ จะมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ดี แต่อาจยังไม่ได้ฟื้น 100% อย่างที่หวัง คาดในแง่รายได้ อาจจะฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์มากกว่า 90% อยู่ ที่ 2.75 ล้านล้านบาท

โดยจะมาจาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น, ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายต่อทริปที่คาดสูงขึ้นจากราคาที่พักที่ปรับตัว และแนวโน้มวันท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น 

อย่างไรตาม ปัจจัยที่น่าจับตา คือการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน (Chinese Travelers) ที่คาดยังไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ด้วยอัตราการกลับมาที่ราว 5.7 ล้านคน คิดเป็น 52% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากยังมีแรงกดดัน 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 

  • แรงกดดันจากเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน เช่น ปัญหาการว่างงานในคนอายุ 16-24 ปี ที่สูงเกินกว่า 20% ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่จะเดินทางออกนอกประเทศที่ลดลง 
  • ภาคการเงินที่ยังน่ากังวล ที่ส่งผลให้สินทรัพย์หรือรายได้ของชาวจีนบางกลุ่มลดลงจนอาจกระทบต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี การดึงดูดในเรื่องของอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวไทยเป็นตลาดที่เข้าถึงง่ายจากค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูง ส่งผลให้ตลาดไทยอยู่ในฐานะจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ที่อาจได้ประโยชน์ในระยะแรก แต่อาจเริ่มถูกตั้งคำถามถึงอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาอาจมีทางเลือกในการเดินทางไปยังประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น สะท้อนผ่านสัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนในปี 2562 มีสัดส่วนที่เท่ากันที่ 28% ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนในฝรั่งเศสที่มีสัดส่วนเพียง 3% แต่สามารถสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 7%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ