ก็เป็นเรื่องแปลกที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย อยากเห็น เศรษฐกิจไทยวิกฤติ เมื่อ แบงก์ชาติ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ แต่ฟื้นตัวช้า เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในโลกเก่า และแนะนำให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่โลกใหม่ ไม่อย่างงั้น สินค้าที่ไทยผลิตจะขายใครไม่ได้ เป็นสินค้าตกยุค เช่น ฮาร์ดดิสก์ ที่ไทยเป็นผู้ผลิตมากที่สุดในโลก แต่โลกวันนี้เขาใช้ชิพวงจรไฟฟ้าเล็กๆ กันแล้ว เป็นต้น สมาชิกพรรคเพื่อไทยก็โกรธกันใหญ่ ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีผู้ว่าการแบงก์ชาติกันยกใหญ่ ทั้งที่ผู้กำหนดอนาคตเศรษฐกิจไทยก็คือรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ
สิบกว่าปีที่ผ่านมาในยุคทหารครองเมือง ประเทศไทยแทบไม่ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันเลย จีดีพีโตไปตามยถากรรม ผู้นำได้แต่ท่องคาถา “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มีคนคิดมาให้ ท่องปีสองปีก็ลืมกันไป เมื่อมีการคิด คาถาใหม่ BCG ก็ท่องกันใหม่ แต่จนบัดนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน มีแต่ภาคเอกชนที่ลงทุนในเรื่อง BCG เพราะอยากส่งออกไปขายยุโรปและสหรัฐฯ
หากพิจารณาตัวเลขจีดีพีปี 2566 ที่ คุณพรชัย ฐีระเวช ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงเมื่อวันพุธที่แล้ว ตัดหน้า สภาพัฒน์ และ แบงก์ชาติ โดยระบุว่า จีดีพีปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6-2.0) ชะลอจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 และคาดการณ์จีดีพีปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3-3.3) แตกต่างจากตัวเลขจีดีพีที่กระทรวงการคลังเคยแถลงคาดการณ์ไว้ว่า ปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 และ ปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 สูงกว่า สภาพัฒน์ ที่คาดว่าปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 และ แบงก์ชาติ คาดว่าปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ปี 2567 จะขยายตัว ร้อยละ 3.2
เมื่อนักข่าวถาม คุณพรชัย ว่า จีดีพีปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง แต่ไม่ได้รับคำตอบแบบตรงๆ คุณพรชัย อ้างพจนานุกรมว่า คำว่า “วิกฤติ” เป็นคำวิเศษณ์ ต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน เช่น เวลาวิกฤติหรือเหตุการณ์วิกฤติ อย่างจีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่เหตุการณ์วิกฤติเป็นไปได้ว่า มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนเยอะ จนเป็นเหตุให้ประชาชนไม่มีเงิน ถือเป็นวิกฤติทางการเงินของครัวเรือนก็ได้ ซึ่งต้องฟังข้อมูลต่างๆมาประกอบการพิจารณา ฟังแล้วก็งง
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ช่วยวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลของกระทรวงการคลัง ทำไมจีดีพีขยายตัวแค่ 1.8% ก็พบไฮไลต์สำคัญที่ทำให้จีดีพี 2566 หลุดเป้าว่า เกิดจากการดำเนินนโยบายการคลังมีปัญหา จากการใช้จ่ายภาครัฐที่โตตํ่ากว่าเป้าจาก -3.4% เป็น -3.6% เนื่องจากไม่มีการเบิกงบประมาณออกไปใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ช็อต (โตแค่ 1.4%) ตัวเลขอีกตัวที่ดูเพี้ยนก็คือ การลงทุนภาครัฐ ที่พบว่า ขยายตัวตํ่ากว่าเป้า ติดลบ 0.2% จากเป้า 0% ชี้ให้เห็นว่า ไตรมาส 4/2566 หน่วยงานรัฐไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามแผน นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริง ก็ลดต่ำลงมากเหลือเพียง 2% จากเป้า 4.3% ทำให้จีดีพีหลุดเป้า ฟังนักวิชาการวิเคราะห์แล้วก็ถึงบางอ้อกันนะครับจีดีพี 2566 หลุดเป้าเพราะอะไร
ผมมีภาพเศรษฐกิจไทยที่อยากให้ดูภาพหนึ่ง เป็นข้อมูลจากคนในแวดวงอุตสาหกรรม เป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่าจีดีพีมาจากส่วนไหนบ้างดังนี้
ภาคการเกษตร มีน้ำหนักในจีดีพีที่ 8% ไตรมาส 4 ติดลบ 2.2% ภาคอุตสาหกรรม มีน้ำหนักในจีดีพีที่ 32% ไตรมาส 4 ติดลบ 4.5% ภาคบริการ มีน้ำหนักในจีดีพีที่ 60% แต่ยังไม่มีการประกาศว่ามีอัตราเติบโตเท่าไหร่ แต่ใน 10 ชาติอาเซียน นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 กว่า 28 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1.2 ล้านล้านบาท จีดีพี 1.8% ของรัฐบาลจึงเป็นตัวเลขที่น่ากังขา ผมถามจริงๆเถอะ ถ้าเศรษฐกิจไทยวิกฤติจริง จะมีนักลงทุนที่ไหนในโลกอยากมาลงทุนในประเทศที่กำลังมีวิกฤติเศรษฐกิจ? ความทุ่มเทของ นายกฯเซลส์แมน ที่ผ่านมา 4 เดือน ก็เสียแรงเปล่า.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม