ความเหลื่อมล้ำการศึกษา ทำเศรษฐกิจเสียหายปีละ 2 แสนล้าน (2)

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ความเหลื่อมล้ำการศึกษา ทำเศรษฐกิจเสียหายปีละ 2 แสนล้าน (2)

Date Time: 30 ม.ค. 2567 05:45 น.

Summary

  • ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาที่เป็นปัญหาของชาติ ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

วันนี้ไปดู ข้อเสนอทางวิชาการของ วตท.รุ่น 33 ต่อนะครับ

2.การออกตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond : SB) เพื่อ เป็นทางเลือกในการระดมทุนเพื่อการศึกษา เช่น Social Impact Bond (SIB) มีหลายประเทศที่ใช้วิธีการนี้ เพื่อระดมเงินบริจาคเพื่อการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ ทดแทนการใช้เงินงบประมาณของรัฐประเทศที่ประสบความสำเร็จคือ เกาหลีใต้ แม้ไทยจะมี ESG Bond แต่ยังมีขนาดเล็กมาก และใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่า ดังนั้น การออกตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนการศึกษา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน

หลักการของตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม ก็เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ตราสารหนี้ จัดให้มีการแยกบัญชีเงินได้จากการออกตราสารหนี้จากบัญชีบริหารงานปกติของบริษัท มีการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลโครงการ เป็นต้น ตราสารหนี้เพื่อสังคมจะจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเล็กน้อย แต่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

3.การหักสัดส่วนรายได้/กำไร (Commitment) เพื่อการศึกษา หรือมาตรการรณรงค์ให้เกิดการให้คำมั่นสัญญาในการกันเงินกำไรของบริษัท เพื่อเป้าหมายทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ (Social Investment Pledge) เป็นหนึ่งในมาตรการสมัครใจ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเพื่อสังคม ประกาศคำมั่นสัญญาแก่สังคมว่า บริษัทจะกันเงินกำไรขั้นต้น 1-2% ไปลงทุนเพื่อสังคมและสาธารณะ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ก่อนจะนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น

4.การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม (การศึกษา) ด้วยการออกกฎหมาย CSR ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการออกกฎหมาย บังคับให้บริษัทเอกชนจัดสรรเงินเพื่อการกุศลสาธารณะ (Mandatory Corporate Philanthropy) เช่น มอริสเชียส อินเดีย เนปาล ไนจีเรีย อย่าง มอริเชียส กำหนดให้บริษัทกันเงิน 2% ของรายได้ในปีก่อนหน้าเพื่อจัดตั้งกองทุน CSR โดยให้จัดสรรเงินกองทุน 75% ไปยังกระทรวงการคลังอีก 25% ให้บริษัทพิจารณาลงทุนในโครงการตามความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท อินเดีย ก็มี พ.ร.บ.บริษัท (Companies Act 2013) กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องลงทุนใน CSR ไม่ต่ำกว่า 2% ของกำไรเฉลี่ยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย แนวทางที่เหมาะสมคือ ส่งเสริมมาตรการสร้างแรงจูงใจผ่านการยกเว้นภาษีสำหรับเงินบริจาคเพื่อการกุศลหรือการศึกษา

5. มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่บริษัทจดทะเบียน ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 908 บริษัท บริษัทเหล่านี้มีความพร้อมมากที่สุดในเรื่องเงินทุน มีคนเก่งมีองค์ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ จึงเสนอแนะให้พิจารณารางวัล SET Sustainability Awards เพื่อชักชวนให้บริษัทจดทะเบียนหันมาทำ โครงการเพื่อการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้คะแนนเพิ่มเติมแก่บริษัทที่ทำโครงการเพื่อส่วนรวม และการสร้าง New S-curve ให้กับประเทศ โดย เพิ่มรางวัล Society-Education for Equality& Quality Improvement Awards เป็นรางวัลใหม่ เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนหันมาให้ความสนใจสนับสนุนเรื่องการขาดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

6.สถานประกอบการร่วมพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ข้อนี้เป็นความเห็นพ้องของ นักศึกษา วตท.รุ่น 33 ที่เป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนว่า หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังคนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อย่างยั่งยืน คือ การใช้สถานประกอบการเป็นศูนย์ฝึกพัฒนา ทักษะอาชีพแก่เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา ซึ่งสามารถทำได้ มากกว่า 150,000 คนต่อปี

ผมก็ขอชื่นชมข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของ วตท.รุ่น 33 ถ้านายกฯ สนใจก็ขอไปทำเป็นนโยบายรัฐบาลได้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมี “รัฐมนตรีศึกษา” ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาจริงๆ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ