นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจเรื่องสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการเอสเอ็มอี ไตรมาส 4 ปี 2566 ที่เป็นการสำรวจข้อมูลรายไตรมาส โดยสอบถามเอสเอ็มอี จำนวน 2,723 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดย พบว่าเอสเอ็มอีมีภาระหนี้สิน 60.1% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่อง จากไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมาที่ 60.3% โดยสาขาธุรกิจผลิตเครื่องหอม เครื่องสำอาง บริการเสริมความงาม/สปา/นวดเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า
“แหล่งกู้ยืมของเอสเอ็มอี กลุ่มที่มีภาระหนี้สิน 71.9% กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน อีก 28.1% มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ เพื่อน/ญาติพี่น้อง หรือนายทุนเงินกู้ ในภาพรวมการกู้ยืมนอกระบบปรับตัวลดลงจาก 33.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ผลจากกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย (ไมโครเอสเอ็มอี) ที่เริ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการกู้ยืมส่วนบุคคล และเพื่อการดำเนินกิจการ ซึ่งธนาคารได้ปรับนโยบายการปล่อยสินเชื่อ ตามมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบว่า เอสเอ็มอี 93.2% กู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รองลงมา คือ กู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนและการชำระหนี้สินเดิม แต่เอสเอ็มอีในภาคบริการและภาคการค้า ยังพบปัญหาการยื่นกู้ไม่ผ่าน เนื่อง จากคุณสมบัติไม่ผ่าน ความไม่มั่นคงของลักษณะธุรกิจ และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นอกจากนี้ เอสเอ็มอี 20% ประเมินว่าวงเงินสินเชื่อที่ได้รับยังน้อยเกินไปและ 40% ประเมินว่าระยะเวลาสัญญาสินเชื่อที่ได้รับสั้นเกินไป ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ โดยจากสภาวะสภาพคล่องที่ลดลงและมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ทำให้เอสเอ็มอี 37% มีแนวโน้มประสบปัญหาการชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือชำระได้แต่ผิดเงื่อนไข เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งกระทบต่อการเข้าถึงหรือขอเพิ่มสินเชื่อของธุรกิจ จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้หรือการออกสินเชื่อที่เอื้อต่อการเข้าถึงของธุรกิจ
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลสำรวจอีกด้านหนึ่งพบว่า เอสเอ็มอีที่ไม่มีหนี้สินบางส่วนเริ่มมีแผนกู้ยืมในอนาคตเพื่อใช้ลงทุนในกิจการ เพื่อนำไปขยายกิจการ ส่วนธุรกิจรายย่อยต้องการนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการ แต่ยังขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมความรู้ในการจัดการบริหารการเงิน และหนี้สินของธุรกิจ และจากผลสำรวจจะเห็นได้ว่ากลุ่มไมโครเอสเอ็มอีเริ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น คาดเป็นผลจากนโยบายที่รัฐบาลส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินช่วยเหลือประชาชนในการแก้หนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจในไตรมาสนี้ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมกลุ่มการค้าและบริการ ที่มีรายได้สูงกว่า 1.8 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้าน บาทต่อปี และกลุ่มการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี กลับมีแนวโน้มการกู้ยืมนอกระบบสูงขึ้น อาจเกิดจากการกู้ยืมเต็มวงเงินแล้ว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่