ความเหลื่อมลํ้าการศึกษา ทำเศรษฐกิจเสียหายปีละ 2 แสนล้าน (1)

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ความเหลื่อมลํ้าการศึกษา ทำเศรษฐกิจเสียหายปีละ 2 แสนล้าน (1)

Date Time: 29 ม.ค. 2567 05:40 น.

Summary

  • ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาที่เป็นปัญหาของชาติ ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้เข้ารับการอบรม “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 33” ที่เพิ่งจบการศึกษาไปเมื่อสัปดาห์ ที่แล้ว ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “กลไกตลาดทุน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน” ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ เผื่อ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน สนใจสามารถนำไปใช้เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษาของไทยครั้งใหญ่ได้เลย

รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาที่เป็นปัญหาของชาติ ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ผมจะสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญเท่าที่จะทำได้นะครับ

รายงานวิชาการฉบับนี้ มุ่งสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจสำคัญของ ตลาดหลักทรัพย์ และ สถาบันวิทยาการตลาดทุน ที่ต้องการส่งเสริมบทบาทการพัฒนาตลาดทุน เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน ผ่านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน มุ่งศึกษาโอกาสและแนวทางที่กลไกตลาดทุนไทย สามารถมีบทบาทในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันกับกลไกภาครัฐและกลไกประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ในรายงานฉบับนี้ยังมี “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ให้กลไกตลาดทุนมีส่วนในการส่งเสริมแรงจูงใจ (Quality Signal Mechanism) ในการ ลงทุนสินค้าสาธารณะ (Public Goods) เช่น ความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพทุนมนุษย์ในประเทศไทย ทั้งมาตรการสมัครใจและมาตรการภาคบังคับ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของระดับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนไทย

ปัจจุบันแม้จะมี แรงจูงใจทางภาษีมากกว่า 2 เท่า แต่บริษัทเอกชนในและนอกตลาดหลักทรัพย์ กลับมีการบริจาคเงินทุนเพื่อการศึกษาเพียงร้อยละ 0.2 ของกำไรก่อนหักภาษี หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของวงเงินที่สามารถบริจาคได้ ผู้ยื่นแบบภาษี 11 ล้านคน มีผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาเพียง 5.9% และเงินที่บริจาคก็มีเพียงน้อยนิดคิดเป็น 4.7% ของวงเงินที่ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่ภาคเอกชนและประชาชนจะสามารถมีบทบาทในการร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์อย่างยั่งยืนได้ รายงานได้ประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับ หากมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา เช่น ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา (ที่ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาคาดว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน) จะได้รับการแก้ไขสำเร็จในอนาคต ข้อเสนอของ วตท.33 ในรายงานวิชาการฉบับนี้มีด้วยกัน 6 เรื่อง ดังนี้

1.สร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการลงทุน (Outcome Fund) เพื่อการศึกษา เพื่อระดมทุนจากตลาดทุนไปต่อยอด “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” โดยทำให้แพลตฟอร์มมีระบบนิเวศของการบริจาค ประกอบด้วย

1.ผู้จ่ายเงิน (Funder) ผู้ที่มีงบประมาณ

2.ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำโครงการที่ตอบโจทย์สังคมและได้รับกำไรที่พอเหมาะ

3.ผู้บริจาค/ผู้สนับสนุนเงินทุน (donator/ invertor) มีบทบาทในการจ่ายเงินล่วงหน้าและรับความเสี่ยงหากโครงการไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีโอกาสได้รับเงินคืนถ้าโครงการประสบความสำเร็จ โดยอาจมีการหักภาษีเป็นแรงจูงใจ

4.ผู้ประเมินและตรวจสอบโครงการ ทำหน้าที่ประเมินโครงการตามเครื่องชี้วัด

5.ผู้ประเมินความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ทำหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือ

กลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม ผู้สนับสนุนเงินทุนสามารถเลือกกระจายเงินและสนับสนุนได้มากกว่าหนึ่งโครงการ มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของวิสาหกิจเพื่อสังคม มีการประเมินผลการดำเนินการ ฯลฯ พรุ่งนี้ว่ากันต่อครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ