ค่ารอบน้อย ร้อยงานพ่วง ตัวจุดชนวนสำคัญ การประท้วงของ “ไรเดอร์ไทย” กว่า 5 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ค่ารอบน้อย ร้อยงานพ่วง ตัวจุดชนวนสำคัญ การประท้วงของ “ไรเดอร์ไทย” กว่า 5 ปี

Date Time: 27 ม.ค. 2567 08:17 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ค่ารอบน้อย ร้อยงานพ่วง ห่วงชีวิต ดันขึ้น #หยุดเอาเปรียบไรเดอร์ จนกลายเป็นชนวนสำคัญที่นำมาสู่การประท้วงของไรเดอร์ส่งอาหารในช่วงเวลาท่ามกลางระยะเวลานานกว่า 5 ปีที่ รวม 113 ครั้ง พบ LINEMAN มีการประท้วงมากที่สุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ เยอะสุด และเหตุส่วนใหญ่คือการลดค่ารอบโดยไม่ได้แจ้งไรเดอร์ล่วงหน้า

Latest


ส้อมกับช้อน เสื่อกับหมอน ประตูคู่ค้อน โรงหนังกับป๊อปคอร์น สิ่งเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นของที่อยู่ควบคู่กันมา คล้ายดังกับเวลาที่เรานึกถึงแพลตฟอร์มเดลิเวอรีก็ต้องนึกถึง “ไรเดอร์” 

แต่ก็นั่นแหละหากไปถามใครๆ จะมีคนรู้ไหมว่า? “ไรเดอร์” ในที่นี้ไม่ใช่ “คนงาน” แต่เปรียบเสมือน “พาร์ตเนอร์อิสระ” คนหนึ่งของแพลตฟอร์ม 

หากว่ากันตามตรง “อาชีพไรเดอร์” นับเป็นอาชีพใหม่ในสังคมไทย หลังจากมีการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มให้บริการด้านการขนส่งอย่างแกร็บในปี 2556 ที่ถือเป็นเจ้าแรก และกลายมาเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีคนให้ความสนใจ และหันมาทำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีคนตกงานและว่างงาน 

จากผลสำรวจเรื่อง ‘ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง’ ของ Rocket Media Lab ในปี 2564 ซึ่งทำการสำรวจผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารจำนวน 1,136 คน พบว่ามีคนที่ทำงานไรเดอร์ส่งอาหารเป็นอาชีพหลักสูงถึง 59.44% และทำเป็นอาชีพเสริม 40.56%

แต่กระนั้นอาชีพไรเดอร์ยังคงอยู่บนฐานของการเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ซึ่งไม่ได้ถูกนับว่าเป็นลูกจ้าง นั่นหมายความว่านอกจากจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว ยังต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขของแพลตฟอร์มโดยไม่อาจต่อรองได้ 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนอย่างการกำหนดค่ารอบ หรือเรื่องสวัสดิการอื่นๆ ที่แพลตฟอร์มมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและปรับลดเรื่อยมา จนก่อให้เกิดการ “ประท้วงของไรเดอร์” มาอย่างต่อเนื่อง

5 ปี มีการประท้วงแพลตฟอร์ม 113 ครั้ง พบ LINEMAN มีการประท้วงมากที่สุด

Rocket Media Lab จึงได้มีการสำรวจการประท้วงของไรเดอร์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรวบรวมข้อมูลในช่วงปี 2562-2566 เพื่อดูว่าไรเดอร์ประท้วงเรื่องอะไร แพลตฟอร์มไหนมีการประท้วงมากที่สุด และการประท้วงสำเร็จหรือไม่ 

จากการเก็บข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์ผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารในโซเชียลมีเดียของกลุ่มไรเดอร์ พบว่ามีการประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นทั้งหมด 113 ครั้ง โดยปี 2562 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 6 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 45 ครั้ง ปี 2565 จำนวน 42 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง

และเมื่อนำการประท้วงทั้งหมดมาแยกว่าเป็นการประท้วงของไรเดอร์จากแพลตฟอร์มใดบ้าง พบว่า แพลตฟอร์มที่มีการประท้วงมากที่สุด คือ LINEMAN 62 ครั้ง ตามมาด้วย Grab food 23 ครั้ง, Foodpanda 17 ครั้ง, Lalamove 7 ครั้ง และอื่นๆ 4 ครั้ง เป็นการส่งเสียงจากไรเดอร์ โดยไม่ได้ระบุแพลตฟอร์มผ่านการยื่นหนังสือถึงภาครัฐและพรรคการเมือง โดยจังหวัดที่มีการประท้วงมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 27 ครั้ง 

ปี 64 ประท้วงเยอะสุด จากการปรับโครงสร้างค่ารอบครั้งใหญ่

จากข้อมูลจะพบว่าในปี 2564 เป็นปีที่มีการประท้วงมากที่สุดถึง 45 ครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่หลายแพลตฟอร์มปรับโครงสร้างค่ารอบครั้งใหญ่ โดยไรเดอร์ในหลายพื้นที่ระบุว่า ในการปรับค่ารอบครั้งนี้ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ในปีนั้นเกิดการประท้วงของไรเดอร์กระจายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้เมื่อนำข้อเรียกร้องในการประท้วงของไรเดอร์ส่งอาหารในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 113 ครั้ง สามารถยกตัวอย่างเรื่องที่ถูกเรียกร้องมากที่สุด อาทิ ค่ารอบและค่าตอบแทน จำนวน 93 ครั้ง เนื่องจากมีการลดค่ารอบโดยไม่ได้แจ้งไรเดอร์ล่วงหน้า, ระบบรับงานและการจ่ายงาน จำนวน 42 ครั้ง หลังจากแพลตฟอร์มเริ่มนำระบบอัลกอริทึมมาใช้ในการจ่ายงานแทนระบบกดรับงานแบบเดิมที่ไรเดอร์ต้องแย่งกันกด ส่งผลต่อจำนวนงานและรายได้ที่ลดลง อีกทั้งสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการจัดสรรสวัสดิการและการช่วยเหลือไรเดอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย 

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเรื่องค่ารอบเป็นประเด็นที่ไรเดอร์มีการเรียกร้องมากที่สุด และเป็นแรงขับเคลื่อนในการประท้วงแพลตฟอร์มของไรเดอร์มาโดยตลอด 

ซึ่งปัจจุบันค่ารอบของไรเดอร์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 แพลตฟอร์ม LINEMAN ได้เตรียมปรับลดค่ารอบในหลายจังหวัด ทำให้ไรเดอร์เริ่มทำแคมเปญประท้วงแพลตฟอร์มผ่าน #หยุดเอาเปรียบไรเดอร์ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ไรเดอร์ได้มีการรวมตัวกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ในการประท้วงครั้งนั้นๆ ทั้งที่สำนักงานใหญ่และศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด รวมทั้งมีการยื่นหนังสือถึงแพลตฟอร์มโดยตรง และพบว่าแพลตฟอร์มยอมรับข้อเรียกร้องหลังจากการประท้วงของไรเดอร์เพียง 20 ครั้ง คิดเป็น 17.70% ของการประท้วงทั้งหมด 

ความน่าสนใจคือข้อเรียกร้องเกี่ยวกับค่ารอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการประท้วงของไรเดอร์มากที่สุด แต่กลับประสบความสำเร็จน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับข้อเสนออื่นๆ โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ที่แพลตฟอร์มยอมรับคือเรื่องการปรับปรุงระบบ GPS ให้มีความแม่นยำมากขึ้น การปรับปรุงการกระจายงาน 

นั่นจึงทำให้ข้อต่อรองที่ถูกยื่นออกไป ไม่สำเร็จอย่างที่ต้องการ ไรเดอร์จึงต้องรวมกลุ่มช่วยกันเอง เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับแพลตฟอร์มและง่ายต่อการขับเคลื่อนประเด็นที่ไรเดอร์ต้องการจะสื่อสารออกไป นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังเป็นการตั้งเครือข่ายช่วยเหลือกันภายในของไรเดอร์ด้วยกัน แต่นั่นกลับได้รับผลตอบรับที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้นเมื่อ “เสียง” ถูกเปล่งออกมาแล้วฝั่ง “ผู้ฟัง” อย่างแพลตฟอร์ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแสดงท่าที และออกมาแอ็กชันอย่างไรบ้าง เพราะการ Call Out ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีมาเพียงแค่วัน สองวัน แต่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ปี จะดีกว่าไหม? หากมี “ตรงกลาง” ที่พอดีกับทุกฝ่าย เพื่อเป็นข้อสรุปที่ไม่ว่าใครก็จะ “ไม่เสียเปรียบ” เราจึงต้องรอดูกันต่อไปว่าสิ่งเหล่านี้ที่พวกเขา ในฐานะ “พาร์ตเนอร์” ทำ จะไปถึงฝั่งฝันดังที่เขาคาดหวังไว้หรือไม่ และจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในวงการ “เดลิเวอรีไทย” อีกบ้าง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ